Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ชนเผ่าพื้นเมือง กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์


“ชนเผ่าพื้นเมือง” กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์
โดย ประชาธรรม วันที่ 13 สิงหาคม 2551


    ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่หอประชุม ม.เชียงใหม่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ จากทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ ปากะญอ ม้ง เมี่ยน อาข่า คะฉิ่น ชอง ไททรงดำ ไทใหญ่ มอญ มอแกลน มอแกน อูรักละโว้ย ฯลฯ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายพันธมิตร ร่วมจัดงาน “มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551” เพื่อเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

โดยในวันที่ 8 ส.ค. มีการจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ชนเผ่าพื้นเมืองกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งชาติพันธุ์” โดย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ ม.ศิลปากร สำนักข่าวประชาธรรมเรียบเรียงมานำเสนอในตอนที่ 2 ดังต่อไปนี้...

---------------------------------------------------------

แต่ถ้าเป็นท้องถิ่นจะเป็นตัวไม่ใช่โบสถ์ หรือว่าสิม จะเป็นธาตุ จะมีพระเจดีย์ ที่อาจจะอยู่ในหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง แต่ในงานนักขัตฤกษ์นั้นคนที่อยู่ในหมู่บ้านก็ต้องนำมาทำพิธีกรรม ยกตัวอย่างอย่างบั้งไฟเป็นต้น ส่วนในภาคกลางคือการแข่งเรือ ความหลากหลายในระดับหมู่บ้านมาสร้างความเป็นจิตสำนึกร่วม สร้างความเป็นอันหนึ่งในท้องถิ่น บ้านอันหนึ่งหมู่บ้านมอญ บ้านจีน ลาวใช้ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ผมเห็นจากที่ อ.ศรีมหาโภชน์ มีทั้งหมู่บ้านคนจีน คนไทย คนลาว ต่างฝ่ายต่างเอาต้นโพธิ์มาจุดที่ต้นโพธิ์ศรีมหาโภชน์ 

แต่ว่าในความสัมพันธ์กันนั้น ไม่ถูกกัน คนลาวถือว่าคนไทยไปกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์ และรังแกเขา ส่วนคนไทยเองก็บอกว่าไอ้นี่มันโจรทั้งนั้น เพราะว่ามันเป็นเขตชายแดน แล้วต่อมาคนจีนเข้ามา แต่ว่ามาไหว้ต้นโพธิ์ด้วยกัน เอาบั้งไฟมาจุดด้วยกันเกิดความสัมพันธ์กัน แต่งงานปะปนกัน ความเป็นลาว ความเป็นไทย จีน สลายลงเกิดความเป็นท้องถิ่นศรีมหาโภชน์ ตรงนี้คือฐานที่สำคัญทีนี้ในท้องถิ่นที่ต่างจากถิ่นอื่นคือความหลากหลายของวัฒนธรรม


ทีนี้ปัญหาขณะนี้ หลังจากสมัยของสฤษฎิ์ การพัฒนาจากสังคมกสิกรมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม สร้างถนนหนทางไปแย่งพื้นที่ของเขาซึ่ง ไปละเมิดพื้นที่ของเขา ไปกระทบกับสิทธิมนุษยชน เพราะการที่เขาอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งนั้น เขาจัดความสัมพันธ์กันแล้วเขาเกลี่ยกันในเรื่องของความเป็นสมานฉันท์ แต่พออำนาจรัฐเข้าไปมันมีปัญหาขึ้นมา

 เพราะฉะนั้นการไปละเมิดสิทธิโดยที่มองรัฐเป็นใหญ่นั้น เห็นชัดจากการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชาวนาไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างที่พื้นที่ที่ใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นตัวจัดการ แต่รัฐถือว่าแผ่นดินหรือพื้นที่ทุกๆ อย่างเป็นของรัฐทั้งหมด รัฐจะสามารถเวนคืนและไปสัมปทานให้กับผู้ใดก็ได้ ทำให้เกิดการขัดแย้งนี่คือสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอด



นี่คือปัญหาที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้าหากเราจะเข้าใจความหลากหลาย เราต้องเข้าใจในระดับชนเผ่า พื้นที่ เขตของเขานั้นไม่จำกัด อย่างเช่นชาวเลที่แหล่งทำกินคือท้องทะเลทั้งหมด ทำพิธีกรรมอีกจุดหนึ่ง เวลารัฐบาลไทยมองนั้นมองเพียงเฉพาะหมู่บ้าน แล้วจะไปทำอะไรได้ แต่ว่าพื้นที่ทำกินรัฐไปยึดครอง เกิดโฉนดน้ำขึ้นมา ยึดเอาไป พื้นที่ทำกินของเขาใครไปก็ได้ แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นศาลอยู่ หรือว่าเป็นเกาะร้างอยู่ 

วันดีคืนดีรัฐไปให้เอกสารสิทธิคนนั้นเข้าไปอยู่ แล้วไปยึดครองที่ทำกินของเขา บางแห่งที่เป็นศาลผีทั้งหญิงและชายกลายเป็นที่เทขยะซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเขา เวลาที่รัฐบาลพัฒนาประเทศนั้นไม่เคยมองความหลากหลายของเขา ความหลากหลายที่ไปสัมพันธ์กับสิทธิของเขา ซึ่งแต่เดิมเขายอมรับ


ถ้าหากถามว่าแต่เดิม เวลาที่เราเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์ไม่เคยทำอย่างนั้น หลายแห่งที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นเปลี่ยนเป็นวัดทั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินบอกว่าตรงนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็สร้างวัด การสร้างวัดบางทีเป็นการสร้างตำนานขึ้นมาอย่างเช่นตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นต้น หลายแห่งของพวกลัวะที่อยู่ที่เชียงใหม่นั้น ตรงนั้นเป็นเขา มีหินสามก้อน มีหินตั้งถูกเปลี่ยนมาเป็นวัด 

สมัยติโลกราชนั้นสร้างธาตุขึ้นตามยอดเขา อย่างเช่นพระธาตุจอมซิ่นที่ อ.เทิง และหลายแห่งสร้างพระบาท คือเอาศาสนาเข้าไปครอบเพื่อที่จะดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ การสร้างวัดวาในสมัยก่อนนั้นไม่ใช่การสร้างเพื่อที่จะประกาศสิทธิของรัฐ แต่เป็นการเคารพอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นั้น แต่ว่าในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์เป็นต้นมานั้น รุกหมด มันกระทบหมด ซึ่งเป็นตัวอย่าง


เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ต้องมองอดีตที่เขามีมา เข้าใจรากเหง้าเราถึงสามารถจะจัดการได้ เวลานี้เราโหยหาถึงความสมานฉันท์ ซึ่งมันไม่เคยมี เพราะว่าในความเป็นสมานฉันท์นั้นมันต้องเป็นสังคมที่เป็น plural คือสังคมที่เป็นพหุรัฐ อย่างในอินโดนีเซีย หรือว่ามาเลเซีย เขาจะต้องรู้จักค่านิยมของแต่ละกลุ่มแล้วมาพบปะกัน มาประนีประนอมกันนั่นคือการสมานฉันท์ ต้องรู้จักกัน 

แต่ถ้าทว่าปัจจุบันนี้รัฐไม่เคยมองเลย เอาความคิดของตนเองมาเป็นใหญ่ แล้วเวลาที่เกิดเรื่องขึ้นมาก็มาบอกว่าต้องสมานฉันท์ จะสมานฉันท์อย่างไร แถมบางคนยังต้องการสันติวิธี สันติสุข ซึ่งความสมานฉันท์นั้นไม่มีแล้วจะมีสันติวิธีได้อย่างไร


หากเรามาดูในการอยู่รวมกันของคนเหล่านั้น เขาไม่ได้มองว่าอะไรถูกหรือว่าผิด คนหลายชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกันในท้องถิ่นเดียวกัน สมัยโบราณนั้นไม่ได้เอาความยุติธรรมเป็นตัวตั้ง แต่ว่าเขาโหยหาความเมตตา การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นในกระบวนการพบปะซึ่งกัน ถ้ามีความขัดแย้งก็ใช้วิธีที่ประนีประนอม คนที่ประนีประนอมคือผู้นำ หรือว่าผู้อาวุโสของท้องถิ่นนั้น นั่นคือการประนีประนอมที่มีอยู่ แต่ว่าพออำนาจรัฐเข้าไปนั้นเอาขาว ดำ ส่งฟ้องศาลกัน มันถึงเกิดปัญหาขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าสมัยก่อนในการที่อยู่รวมกันหลากหลาย มันมีกระบวนการที่ประนีประนอมกันอยู่แล้ว รู้จักความต้องการของเขา ความต้องการของเรา แต่มาในยุคหลังเอาค่านิยม เอาสิ่งที่คนในเมืองที่มีอำนาจเห็นว่าถูกต้องเอามาตัดสินหมดเลย


แล้วกรณีนี้เกิดใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีความหลากหลายอย่างชัดเจน เวลาเรามอง 3 จังหวัดภาคใต้ เรามองเป็น 3 จังหวัดเราไม่ได้มองว่ามันมีพื้นที่ที่ต่างกัน ในเขตภูมิวัฒนธรรมของเทือกเขาสันกาลาคีรีมันเป็นหุบๆ อยู่ หุบปัตตานี สายบุรี หรือว่าอะไรต่างๆ เพราะเทือกเขาไม่ยาวเป็นแนวเดียวอย่างนครศรีธรรมราช หรือว่าสงขลา ในหุบนั้นมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้นั้นมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด เพราะว่าสังคมเมื่อก่อนนั้นมีความเชื่อมโยงกันในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่เข้าใจความหมาย หรือว่าความเข้าใจ เราก็จัดการกับมันไม่ได้


เวลานี้การจัดการในทางวัฒนธรรมนั้น รัฐพูดถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม รัฐพูดปาวๆ แต่ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร กระทรวงวัฒนธรรมนั้นพูดปาวๆ เรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรมแต่เขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร อย่าลืมว่าทำไมสังคมไทยถึงถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นสังคมพหุลักษณ์แบบอินโดนีเซีย หรือว่ามาเลเซีย เพราะว่ามันมีกระบวนการบูรณาการความหลากหลายอยู่แล้วในระดับถิ่น ยกตัวอย่างชนเผ่าที่ลงมาแต่งงานกับสังคมชาวนา 

สังคมชนเผ่าก็สลายกลายเป็นชาวนาไป แต่ละถิ่นนั้นต่างกัน อย่างเช่นพื้นเมืองโคราชมีไหมหางกระรอก ซึ่งในความจริงเครื่องแต่งกายนั้นอาจจะบอก สี ลวด ลาย ต่างกัน แล้วความแตกต่างที่ดูง่ายที่สุดนั้น มองที่เครื่องแต่งตัวของผู้หญิง ผู้ชายนั้นไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ว่าผู้หญิงนั้นเห็นชัด โดยเฉพาะในสังคมชาวนาที่นุ่งซิ่นมัดหมี่ นี่คือความหลากหลายที่เป็นความงดงาม เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเข้าตลาด เราก็จะรู้ว่าเป็นคนพวกนี้ๆ แต่เขามาซื้อของร่วมกัน แลกเปลี่ยนกัน


ผมไปหลายๆ แห่ง พิธีกรรมหลายอย่างประกอบด้วย 1.ให้ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 2.ประกอบพิธีกรรมร่วมกัน 3.เอาของมาแลกเปลี่ยนกัน พื้นที่วัดหลายๆ แห่ง หรืออย่างเช่นในเม็กซิโกที่มีพีระมิดใหญ่ที่ใช้สำหรับบูชาพระอาทิตย์ ในเวลาปกติพื้นที่ที่เป็นลานตรงนั้นก็เป็นตลาดทั้งนั้นเลย อินเดียก็เช่นกันเป็นที่รวมสิ่งต่างๆเหล่านี้ มันมีกระบวนการบูรณาการอยู่ในท้องถิ่น 

แต่ท้องถิ่นก็ต่างกัน ซึ่งเห็นชัด อย่างเช่นปราสาทเมืองพระนครในสมัยนครวัด ที่เขมรขบวนช้างยาวเหยียด อันนั้นก็มีคนหลายเผ่าพันธุ์อยู่ในเมืองพระนคร เวลาที่มีขบวนแต่ละคนก็ต่างแต่งตัวที่ต่างกันไป นั่นคือสิ่งที่มีอยู่แล้ว ความหลากหลาย



แต่พอมาถึงสังคมสมัย จอมพล ป. จอมพลสฤษฎิ์ ทุกอย่างกลายเป็นไทยไปหมด ห้ามกินหมาก ให้แต่งตัวเป็นไทย เขาไม่ยอมรับความหลากหลาย แต่ถ้าหากว่าเราเข้าไปในอดีตจะเห็นความหลากหลายมาก ผมคิดว่าความหลากหลายนั้นอาจจะมองแง่ของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือสำเนียงภาษาคือสิ่งที่สำคัญที่บอกความหลากหลายด้วย อย่างเช่นทางภาคกลางที่มีพวกลาวอะไรต่างๆ นั้นก็อยู่ที่ภาษาพูด หรือเรียกตามชื่อท้องถิ่นจึงเกิดความหลากหลายขึ้นมาแล้วถูกบูรณาการด้วยพื้นที่อีก

ในความหลากหลายนั้นเขาอยู่รวมกันโดยสมานฉันท์ และโดยเฉพาะเขามีสิ่งที่ควบคุมโดยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ควบคุมเขาอยู่ ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ว่าในปัจจุบันสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดก็คือรัฐ ไปแย่งพื้นที่โดยเฉพาะ ถ้าหากมองในสังคมไทยเมื่อก่อนนี้ ในกฎหมายตราสามดวงทุกอย่างของแผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์ แล้วให้ชาวบ้านชาวเมืองใช้ แต่ว่าปัจจุบันนั้นรัฐเป็นเจ้าของที่ดิน ไปให้สัมปทานจึงเกิดปัญหาขึ้นมา 

ชาวอิสลามที่ผมพบในภาคใต้พื้นที่ดินเป็นของอัลเลาะห์หมดเลย แล้วมันทำให้เกิดการโกงขึ้น พื้นที่สาธารณะหลายแห่งรัฐออกเอกสารสิทธิ์ มันถึงเกิดนาร้างขึ้นมา เพราะว่าคนมุสลิมนั้นไม่ได้มองในเรื่องของกรรมสิทธิ์ แล้วถูกโกงมากโดยเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแหลกลานหมด เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงคนไทย ความหลากหลายนั้นมองไม่เห็น และกรรมการสมานฉันท์แทนที่จะเข้าไปรู้จักกับคนกลุ่มนั้นนี้ แต่ว่าไม่ทำ เขาไปเก็บข้อมูลอย่างหลวมๆ แล้วไปตัดสินจึงเกิดปัญหาขึ้นมา


ที่จริงการพูดคุยกันนั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะสร้างความรู้จากข้างในว่าแต่ละเผ่าเป็นอย่างไร มีวิถีชีวิตอย่างไร มาแลกเปลี่ยนกันแล้วเราจะบูรณาการให้เป็นอันเดียวกันได้อย่างไร การศึกษาความหลากหลายวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นนั้นไม่มีทางที่คนนอกจะทำได้ เพระว่าเข้าไม่ถึงในวิถีชีวิตของเขา มันต้องมีความร่วมมือของคนในท้องถิ่น


สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐเอาคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนไปอยู่ในท้องถิ่น เข้ามาจากการเลือกตั้งโดยการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะฉะนั้นมันถึงพังไปหมด สังคมไทย เปลี่ยนชาวนาเป็นอุตสาหรรม ทำให้คนไม่มีสำนึกท้องถิ่น กลายเป็นปัจเจกไปหมด คนถิ่นอื่นถาโถมเข้ามาทับ 

แล้วรัฐเอาโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมลงไป ตัวอย่างที่ผมกำลังทะเลาะกับคนอื่นๆ ในเวลานี้คือ เรื่องของมรดกโลก ซึ่งโครงสร้างของมรดกโลกนั้นเป็นโครงสร้างที่จากบนลงล่างไม่เข้าใจวิถีของคน โครงการพัฒนาต่างๆ ที่มาจากโลกาภิวัตน์นั้นอันตรายมาก อย่างเช่นการทำเขื่อนในแม่น้ำโขง 11 แห่งนั้น เป็นโครงสร้างที่ทำลายคนท้องถิ่นหมดเลย ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยคนข้ามชาติ


ผมเคยคุยกับเอ็นจีโอว่าถ้าหากเขาจะต่อสู้ เขาจะมาบอกเพียงว่าเรื่องปลาไม่มีนั้นไม่ได้ ไม่มีทาง มันต้องผนึกกำลังความหลากหลายของคนในท้องถิ่น แต่ละถิ่นมาคุยกัน เป็นภาคีใหญ่ แล้วเอาความจริงท้องถิ่นมาประชาพิจารณ์ต่อรอง จึงจะสามารถต่อต้านการข้ามชาติได้ เพราะพวกโครงการข้ามชาติมันหนัก เมืองไทยนั้นอย่างเช่นเรื่องบางสะพานเป็นต้น อ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ก็ตกกระไดพลอยโจนไปด้วย เพราะว่าท่านไปทำเรื่องบ้านกรูด 

แต่เผอิญว่ามันไม่ใช่เพียงบ้านกรูดอย่างเดียว มันเป็นโครงการของโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเขาเดือดร้อน อ.นิธิต้องเข้าไปช่วยชาวบ้านเรื่องการทำประชาพิจารณ์


ทีนี้ที่ อ.นิธิทำนั้นจะเห็นว่าคนในเขาแสดงตัวออก แต่ที่ผ่านๆ มานั้น เราพวกเอ็นจีโอ ไปทำแทนพวกชาวบ้านจึงทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกมือที่สามไป หากเอาคนข้างมาทำประชาพิจารณ์โดยที่นักวิชาการช่วย นั่นคือการให้พลังเขาเพื่อที่จะสร้างความรู้อีกชุดหนึ่งขึ้นมาต่อรอง เพราะฉะนั้นถ้าหากเราพูดถึงความหลากหลายในสิทธินั้น เราต้องมาคิดว่าในกระบวนการต่อไปเราจะทำอย่างไร


ผมเห็นว่าบาทของ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ต้องลดความเป็นพี่เลี้ยง แล้วต้องสร้างคนท้องถิ่นขึ้นมา เอาเรื่องราวของตนเองขึ้นมาเพื่อที่จะเห็นความหลากหลาย อย่างเช่นในเรื่องของบางสะพานไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่แสดงตัวออกมา แล้วให้รายละเอียดที่น่าสนใจมาก ซึ่งตรงนี้คือการประชาพิจารณ์ ในอนาคต ถ้ามองว่าจะสู้อย่างไร 

เราจะต้องลงมาข้างใน สร้างให้เป็นความรู้ แล้วเป็นกลุ่ม ถิ่นใดถิ่นหนึ่งจะสู้ด้วยตนเองไม่ได้ กรณีแม่น้ำโขงนั้นเป็นตัวอย่างที่ต้องสู้ เพราะสังคมสองระดับมันถูกทำลายด้วยสังคมอุตสาหกรรมที่เป็นปัจเจก แล้วยิ่งรุนแรงขึ้นในกระแสของโลกาภิวัตน์

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น