Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

การทำไร่ข้าวชนเผ่าอาข่า

การทำไร่ข้าว

ความสำคัญ

การแบ่งเขตพื้นที่ในชุมชนอ่าข่านั้นเริ่มจากตั้งแต่ประตูหมู่บ้าน ศาลพระภูมิประจำหมู่บ้าน แล้วจึงเข้าสู่เขตป่าชุมชนหรือที่เรียกเป็นภาษาอ่าข่าว่า “ญา คุ้ม ตือ” ดัง นั้น การบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำไร่ในแต่ละปีของชาวอ่าข่านั้นสามารถทำได้ในบริเวณ พื้นที่ที่ชุมชนกำหนดเท่านั้น คือพื้นที่ทำมาหากินอยู่นอกพื้นที่ ญา คุ้ม ตือ เสอม เมื่อได้ทำการบุกเบิกพื้นที่ทำไร่แล้วก็ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวอีกหนึ่งหรือสองฤดูการผลิต ก่อนจะย้ายไปบุกเบิกที่แห่งใหม่ ดังนั้น ระบบการทำไร่ของคนอ่าข่าจึงเป็นแบบไร่หมุนเวียน
การทำไร่ชนเผ่าอาข่า

ก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับฤดูกาลทำงานแต่ละช่วง ต้องเข้าใจถึงภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำไร่ของคนอ่าข่า ซึ่งมีรูปแบบการทำไร่อยู่ ๒ แบบ คือ ทำไร่แบบ “ญ้านะ” กับ “ ญ้าเพ่อ” ดังนี้

๑) การทำไรแบบญ้านะ เป็นการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ด้วยการตัดโค่นต้นไม้และฟันต้นหญ้า แล้วจึงทำการเผา ทั้งนี้ เศษลำต้นและกิ่งไม้ที่เหลือจากการเผา เรียกว่า “ญ้า จี จี เออ” จะถูกตัดมากองแล้วทำการเผาใหม่อีกรอบ หรือเก็บไปทิ้งให้พ้นบริเวณไร่ ฉะนั้นหมายความของคำว่า “ญ้า” ที่แปลว่าไร่ กับคำว่า “นะ” ที่แปลว่าดำ จึงหมายถึงไร่ที่เกิดจากการเผาต้นและกิ่งไม้ให้ไหม้จนดำและกลายเป็นเถ้าถ่าน นั่นเอง ทั้งนี้ เถ้าถ่านที่ถูกเผาไหม้จะกลายเป็นปุ๋ยและเป็นธาตอาหารอย่างดีให้กับพืชที่เรา ทำการปลูก

๒) ญ้าเพ่อ คำนี้มีความหมายดังนี้ “ญ้า” แปลว่าไร “เพ่อ” แปลว่าเปื่อย ดัง นั้น ญ้าเพ่อ จึงหมายถึงไร่เปื่อย ซึ่งหมายถึงไร่ที่ผ่านการถางและเพาะปลูกมาเมื่อปีที่แล้ว เหตุผลที่ยังคงทำการเพาะปลูกในไร่ผืนเดิมอีกในปีถัดไปนั้น ประการแรกคือ ในไร่ยังคงเต็มไปด้วยพืชผักพื้นบ้านสำหรับการบริโภค เช่น พริก ผักชีฝรั่ง หอมชู แซ้กู่ (เครื่องปรุงชนิดนี้มีปลูกเฉพาะคนอ่าข่าเท่านั้น) งา และพืชตระกูลถั่ว ฯลฯ ประการที่สอง แม้ว่าปุ๋ยหรือธาตุอาหารอาจน้อยลงไปในปีที่สอง แต่ต้นพืชที่ปลูกก็ยังสามารถเจริญงอกงามอยู่ แต่ในส่วนของการใช้แรงงานและระยะเวลาในการตัดโค่นและเตรียมความพร้อมในการ ปลูกนั้นน้อยกว่าการทำไร่ผืนใหม่ ประการที่สาม กระท่อมและศาสนสถานที่มีอยู่ในไร่ คือ “ยาชุ้ม” หรือเพิงที่สร้างไว้หลบแดดและฝน กับ “ยาชุ้ม ฮึ่มผี่” หรือศาลเจ้าประจำไร่ นั้นไม่จำเป็นต้องทำใหม่ เพียงแต่ปรับปรุงของเดิมก็ใช้ได้แล้ว
ไร่ข้าวบนดอย

อุปกรณ์ในการทำไร่

- มีด หรือ “มี แช้”

- จอบ หรือ “แช มา”

- จอบเล็ก หรือ “หละ เง่อ”

- เคียว หรือ “แย หว๊อด”

- ขวาน ซึ่งมีสองชนิดคือ “เดอ ห่า” กับ “เดอ หาเบี๊ยะ “

- เสื่อที่สานจากไม้ไผ่ หรือ “ก่อ ภู” ใช้ปูพื้นเวลานวดข้าว

- แผ่นไม้กระดาน หรือ “แช้ ตี่ หละ ขว๊อด” ที่ทำมาจากเนื้อแข็ง เอาไว้ตีนวดข้าว

- ตอกไผ่ ใช้มัดกองฟาง หรือใช้ในขั้นตอนอื่น ๆ เกี่ยวกับการทำไร่



ขั้นตอนในการทำไร่ข้าวของชาวอาข่า

เมื่อ ได้เลือกพื้นที่ในการปลูกข้าวแล้ว ในกรณีของไร่ใหม่ก็จะเริ่มทำการถางต้นหญ้าและโค่นต้นไม้ ส่วนกรณีไร่เก่าจะถางเพียงตอข้าวที่ค้างจากปีที่แล้ว โดยทำระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมหรืออาจเลยถึงเดือนเมษา ภายหลังจากทำการเผาแล้วจะมีการเตรียมดินด้วยการใช้จอบขุดพลิกหน้าดินแล้วทุบให้ละเอียดเพื่อทำลายรากหญ้าคา การเตรียมพื้นที่ในลักษณะนี้คนอ่าข่าเรียกว่า “หมี้ ลี่ ลี่ เออ”

เดือนพฤษภาคม ฝนเริ่มเทลงมา ทันใดที่เม็ดฝนแรกลงสู่พื้นดิน คนอ่าข่าถือว่าฤดูกาลแห่งการทำงานได้เริ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านก็เตรียมเมล็ดข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ตลอดจนพันธุ์พืชอื่นๆ เช่น อ้อย มันเทศ ทานตะวัน กระเจี๊ยบ แตงกวา ฯลฯ ไว้ และแล้วเทศกาล “แช่ คา อะเผ่ว” หรือเทศกาลปลูกข้าวก็มาถึง “โจ่วมา” ซึ่งเป็นผู้นำด้านบพิธีกรรมของชุมชนจะเริ่มต้นทำการปลูกหว่านลงดิน แล้วจึงตามด้วยชาวบ้านครอบครัวอื่น ๆ ที่มีความพร้อม

เมื่อหว่านข้าวหรือทำการปลูกพืชพันธุ์อื่นๆ ก็จะคอยดูแลไม่ให้วัชพืชอื่นๆขึ้นมารับแสงแดดสูงกว่า คอยตัดหรือถอนหญ้าให้ ซึ่งในช่วงนี้ก็มีการเอามื้อเอาแรงกันอย่างสนุกสนานครึ้มเครงกัน

จาก เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงของการทำงานอย่างหนัก คอยดูแลและกำจัดวัชพืชกับศัตรูพืชในไร่ข้าว และจับตาเฝ้าคอยการเจริญเติบโตของต้นข้าวและต้นพืชอื่น ๆ ที่จะออกผลตามมาอย่างตื่นเต้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จในครึ่งปีแรกกับเป็นการรอคอยผลผลิตข้าวที่จะตามมา คนอ่าข่ามีการจัดเทศกาลโล้ชิงช้า หรือ “แย้ ขู่ จา เออ” ประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในเดือนกันยายนนี้เช่นกัน คนอ่าข่าจะมีการเชิดชูผู้นำตำแหน่งทางวัฒนธรรมที่คอยช่วยเหลือทั้งในด้านพิธีกรรมและคำแนะนำในการปลูกพืชพันธุ์ ด้วยการจัดเทศกาล “ยอ ลา ลา-เออ อะเผ่ว”

ปลายเดือนตุลาคมมีพิธีกรรมเพื่อแบ่งปันผลผลิตที่ได้มาให้กับผู้นำพิธีกรรม หรือโจ่วมา นั่นคือ “ค๊ะ แย แย อะเผ่ว” เด็กมักทำรูปมีด หอก ปืน ทาด้วยสีต่าง ๆ ขึ้นบ้านชาวบ้านทั่วไป การขึ้นต้องขึ้นบ้านประตูเข้าและออกทางประตูออก เมื่อไปในบ้าน เจ้าบ้านจะเตรียมแตงไว้ให้เด็ก โดย เด็ก ๆ จะร้อง “โช๊ะ โว” แล้วเดินไปตามทุกหลังคาเรือนในชุมชน นอก จากเป็นการแบ่งปันผลผลิตจากไร่กันแล้ว ยังมีความเชื่อว่าการที่เด็กที่ถือศาสตราวุธดังกล่าวนั้นเป็นการช่วยขับไล่ สิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในบ้านออกไป

ประมาณ เดือนพฤศจิกายน รวงข้าวจะสุกเต็มที่เป็นสีทอง ชาวบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น เคียว เสื่อไม้ไผ่หรือก่อภู และไม้นวดข้าวหรือ แช้ ตี่ หละ โง้ะ แต่ก่อนที่จะลงมือเกี่ยวข้าวหรือจะเด็ดทานตะวันและอ้อย(ซา หล่อง)มากิน จะต้องทำพิธีกรรม “ห่อ สึ จ่า เออ” หรือการกินข้าวใหม่ พิธีกรรมกินข้าวใหม่ต้องเริ่มจากบ้านผู้นำพิธีกรรมชุมชนก่อน จากนั้นจึงตามด้วยครอบครัวอื่น ๆ ที่มีความพร้อม

เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ จะปล่อยให้ตากแห้งไม่เกินประมาณ ๑ สัปดาห์ จากนั้นจึงนำมากอง หรือ “แช้ ปยุ้ม” แล้วทำการตีหรือนวดข้าว และแบกข้าวกลับสู่ยุ้งฉางที่บ้าน ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน หรืออย่างช้าต้นเดือนธันวาคม

การเกี่ยวข้าวอาข่า

ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง

คนอาข่าถือว่าทุกอย่างมีเจ้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผืนแผ่นดิน ต้นไม้ อากาศ ลม น้ำ ฯลฯ ย่อมมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เป็นต้นว่าในดินมีไส้เดือน ในน้ำมีปลา ในอากาศมีนกและสัตว์อื่นๆ ดังนั้น การเตรียมพื้นที่การทำไร่อาจทำให้สิ่งมีชีวิตต้องตาย หรืออาจทำให้เจ้าที่โกรธเคือง จึงต้องทำพิธี “หมี่ จ่า คือ หมี เลอ-เออ” ซึ่งเป็นพิธีกรรมระดับชุมชน เพื่อขออโหสิกรรมกับสิ่งมีชีวิตและเจ้าที่

ที่มา: http://www.cesd-thai.info/index.php?m=museum-view&eID=3&lang=th

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น