Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

มองมุมกลับ :ความสูญเสียจากการละเลยชนเผ่า

มุมมองบ้านสามย่าน : นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551

เหตุที่ตั้งชื่อบทความนี้ว่า "มองมุมกลับ" ก็เนื่องจากที่ผ่านๆ มามีบทความ และงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นถึง การที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเสียโอกาส หรือได้รับผลกระทบจากการไร้แผน และนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล ต้องยอมรับว่าไทยเรามีนโยบายที่ส่งเสริมความหลากหลายของวัฒนธรรมและกลุ่มชน เผ่าพื้นเมืองอยู่น้อยมาก ยิ่งนโยบายการปกป้องคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและการเคารพในศักดิ์ศรีของวิถี แบบชนเผ่าแทบจะไม่มีเอาเสียเลย

บทความนี้พยายามที่จะเสนอมุมกลับ คือแทนที่จะมองผลกระทบและความเสียโอกาสของชนเผ่า ก็จะมองถึงความสูญเสียหรือผลกระทบต่อไทยเราเองจากการที่แผนและนโยบายต่อชน เผ่าเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง

มองมุมตรง -- ชนเผ่าพื้นเมืองกับปัญหาและผลกระทบ

การมองว่ากลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองได้รับผลกระทบและ เป็น "ผู้ถูกกระทำ" นั้นเป็นการ "มองมุมตรง" ชนเผ่าในหลายพื้นที่สูญเสียสิทธิในการจัดการทรัพยากร (ดิน น้ำ ป่า ทะเล) เพราะพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ บางแห่งก็มีการอพยพชุมชนออกจากพื้นที่ ต่อมามีการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงพาณิชย์ ทำให้ชุมชนเป็นหนี้สินมากขึ้น จากการกู้เงินมาลงทุนปลูกพืชเชิงเดี่ยว การกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ฯลฯ หลังจากเป็นหนี้ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ชนเผ่าถูกกดดันต้องออกไปหางานทำนอกหมู่บ้าน เข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง เป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือเข้าสู่อาชีพบริการทางเพศ

ส่วนเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการ ศึกษา ก็มีปัญหาที่ส่งผลต่อชนเผ่าพื้นเมืองหลายประการ เช่น ที่ตั้งสถานบริการห่างไกล คุณภาพของบริการไม่เสมอภาค มีอุปสรรคเรื่องการติดต่อสื่อสาร ผู้ให้บริการขาดจิตวิญญาณ มีการเลือกปฏิบัติ ขาดการส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านรักษาพยาบาล การลดความสำคัญของผู้รู้ในชุมชน

การเป็นกลุ่มชายขอบทำให้เกิดความด้อยโอกาสใน ด้านต่างๆ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่ขาดพลังอำนาจต่อรองกับภาครัฐ วัฒนธรรมราชการอย่างหนึ่งคือการส่งข้าราชการ "หางแถว" หรือ "นอกแถว"ไปอยู่ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งถือเป็นการลงโทษ แต่แทนที่จะเป็นการลงโทษข้าราชการเหล่านั้น กลับเป็นการลงโทษชนเผ่าหรือชุมชนที่ควรจะได้รับการบริการ
 และมีการบริหารจัดการที่พิเศษกว่าที่อื่นๆ

มองมุมกลับ --ประเทศไทยและสาธารณชนต่างหากที่เสียโอกาสจากการละเลยความสำคัญของชนเผ่า

รัฐบาลและสาธารณชนไม่ค่อยได้มองว่าวิถีวัฒนธรรม ชนเผ่าพื้นเมืองมีคุณค่า ยกเว้นในกรณีของการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการนำความแปลกแตกต่างมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ประเทศไทยเราจึงไร้แผน และนโยบายเชิงบวกต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง 
 นโยบายที่ผ่านมาทำให้วิถีวัฒนธรรมของชนเผ่าในหลายพื้นที่ ถูกทำลายไปท่ามกลางการพัฒนาแบบกระแสหลัก เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้มีทางเลือกที่หลากหลายพอ จึงปรากฏว่าชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนภาษา วิถีชีวิต และระบบคิดไปเหมือนผู้คนกลุ่มใหญ่

ประเทศไทยเรากำลังจะสูญเสียโอกาสที่จะรักษา ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวิถีพอเพียง มีความรู้พื้นบ้านที่ทำให้การพัฒนาเป็นไป ในแนวทางของการพึ่งตนเองเป็นหลัก สูญเสียจิตวิญญาณของความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน และสูญเสียภาษาวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ ความงดงามในตัวของมันเอง

1.วิถีแบบพอเพียง ชนเผ่าพื้นเมืองในอดีตอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ประชากรไม่หนาแน่น มีเทคโนโลยีเรียบง่าย และอยู่แบบเน้นวิถียังชีพ ความเป็นอยู่จึงสอดคล้องกับธรรมชาติ และพึ่งพิงตนเองเป็นหลัก แต่เรากลับชักนำความโลภความหลงเข้าไปสู่ชุมชนเหล่านี้ ผ่านโครงการพัฒนา ผ่านโทรทัศน์และโฆษณาหลอกล่อ ให้ติดกับสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ฉุดกระชากสติสัมปชัญญะให้ไกลออกจากความพอเพียงไปทุกที

ท้ายสุดเราก็สรุปว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นคนยากจน แต่อันที่จริงแล้วปัญหาและความยากจนของชนเผ่าพื้นเมืองไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง หลายชุมชนมีคำทำนายว่ายุคสมัยแห่งความวุ่นวายจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีสิ่ง เหล่านี้ -- "ม้ามีเขา เสาออกดอก งูใหญ่เลื้อยออกจากป่า" (ตีความหมายได้เป็นรถจักรยานยนต์ เสาไฟฟ้า และถนนลาดยาง)

2. ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ชนเผ่าพื้นเมืองมีความรู้และภูมิปัญญาที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างสงบ เรียบง่าย และเพียงพอ ชาวทะเลมีภูมิปัญญาเรื่องคลื่นเจ็ดชั้น ที่ทำให้รอดจากภัยพิบัติสึนามิ มีภูมิปัญญาการทำเรือด้วยพืชพรรณไม้หลายชนิดโดยไม่ใช้ตะปูสักตัวเดียว ชาวป่ามีความรู้เรื่องสัตว์ป่าและสมุนไพร 
 จิตวิญญาณและความเชื่อที่ยึดถือต่อๆ กันมาที่ทำให้เกิดความเคารพนบนอบต่อธรรมชาติที่เป็นแหล่งทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ความรู้นี้ถูกลืมเลือน และการละเลยความสำคัญของความรู้ชุดนี้ ทำให้สาธารณชนขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ และภูมิปัญญาซึ่งสร้างสมมานับร้อยปี

3.ความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ และมนุษย์ด้วยกันเอง ปัจจุบัน จิตวิญญาณของการให้และการสร้างความสัมพันธ์แบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกำลังจะ เหือดแห้งไป ท่ามกลางระบบที่เงินตราเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน ชุมชนชนเผ่า (และชุมชนทางเลือกอื่นๆ) เป็นแรงบันดาลใจแหล่งสุดท้ายของจิตวิญญาณนี้ 
 เมื่อเราดึงเอาชุมชนเหล่านี้เข้าสู่ระบบตลาด และใช้ผลกำไรเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ เรากำลังเสียโอกาสที่จะรักษาคุณสมบัติพิเศษของความเป็นมนุษย์ ที่สร้างสังคมบนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

4. วัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างหลากหลาย แต่ละวัฒนธรรม แต่ละภาษามีอัตลักษณ์ ความหมาย และความงดงามในตัวของมันเอง ความหลากหลายในสังคมเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้จากกันและกัน ผู้คนส่วนหนึ่งเห็นและเข้าใจความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กลับมองว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่ควรจะลดทอนหากต้องการจะรักษาความเป็น "ชาติเดียวกัน" เอาไว้ อันที่จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ว่าเราจัดการกับ "ความแตกต่างหลากหลาย" อย่างไรมากกว่า

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การสร้างโอกาสทาง การเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจ ดังนั้น "มุมกลับ" ที่นำเสนอนี้จึงเป็นเพียงรอยสะกิดที่ทำให้พวกเราได้หันมามองถึงสิ่งสำคัญ และโอกาสที่เรากำลังจะสูญเสียไป เพราะการขาดแผนและนโยบายเชิงบวกต่อกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง

นอกจากการเสียโอกาสที่จะรักษาชุมชนที่เคยมี เศรษฐกิจพอเพียง เคยมีความรู้ภูมิปัญญา เคยเป็นแรงบันดาลใจถึงความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล และเคยมีภาษา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ประเทศเรายังเสียโอกาสที่จะแสดงให้โลกได้รับรู้ว่าสังคมไทยได้ให้เกียรติ และดูแลคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ที่มักจะเป็นกลุ่มชายขอบในประเทศเรา 
 เพราะหากมุ่งไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงถ่ายเดียวแล้ว ผลที่ตามมาก็มักจะเป็นการกดขี่เบียดเบียนผู้คนที่อ่อนด้อยกว่าเพื่อเพิ่ม ความมั่งคั่งและความมั่นคงให้แก่ผู้ที่มีโอกาสมากกว่า เห็นแก่ตัวและพวกพ้องมากกว่าอยู่นั่นเอง
ที่มา :: http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q1/2008january10p1.htm

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น