Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง

ภาพจาก  www.chiangmainews.co.th

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชนเผ่า พื้นเมือง
โดยศราวุฒิ ประทุมราช

เมื่อปี 2548 ผมมีโอกาสได้การเขียนและเรียบเรียงหนังสือให้แก่สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและ วัฒนธรรมชาวเขาในประเทศไทย หรือ IMPECT ในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิ มนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับชนชาวเขา ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ การได้ศึกษาระบบของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่า

 และชนพื้นเมืองทั่วโลก เชื่อหรือไม่ครับ ว่าสหประชาชาติได้เริ่มให้ความสนใจประเด็นชนเผ่ามาตั้งแต่ปี 2509 เมื่อเริ่มประกาศกติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม


จนมาถึงการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี 2536 ซึ่งในช่วงเกือบ 30 ปีนี้เองได้มีการต่อสู้กันทางความคิดในเวทีสหประชาชาติ เพราะชนพื้นเมืองในประเทศเอกราชต่างได้รับการกดขี่ และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยประชาชนและรัฐในประเทศที่ชนพื้นเมืองอาศัย จึงเกิดขบวนการศึกษาของนักวิชาการและองค์กรของชนพื้นเมืองในระดับสากล เรียกร้องให้มีการใช้เวทีสหประชาชาติในการสร้างกฎหมายและมีกลไกภายใต้ระบบสห ประชาชาติ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชนแก่ชนพื้นเมือง 

และในที่สุดเมื่อสิ้นสุดการประชุมโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในปี 2536 ที่ประชุมโลก ได้มีการประกาศปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ ให้ดำเนินการ 3 ประเด็นใหญ่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิชนพื้นเมือง นั่นคือ การประกาศให้ ปี 2538 ถึง 2547 เป็นทศวรรษสากลชนพื้นเมืองโลกและ ให้จัดทำร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมืองให้เสร็จสิ้นภายในทศวรรษดังกล่าว และสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการจัดตั้งเวทีถาวรเพื่อชนพื้นเมือง หรือ (Permanent Forum on Indigenous Issues) ซึ่งเป็นผลสำเร็จในเดือนกรกฎาคม 2543

ก่อน ที่จะไปไกลกว่านี้ ขอเล่าย้อนให้ฟังว่า ในโลกนี้เขามีชื่อเรียก ชนเผ่า หรือ ชนพื้นเมือง แตกต่างกัน ชนพื้นเมืองท้องถิ่น (Indigenous Peoples)หรือชนเผ่าพื้นเมือง(Tribal Peoples)นั้น มีผู้ให้นิยามไว้หลายความหมาย นายมาติเนส โคโบ ผู้รายงานพิเศษ ของคณะอนุกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันการเลือกปฏิบัติและการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย 

ชนพื้นเมืองและชนชาติ ได้ให้คำนิยามว่า หมายถึง กลุ่มชนต่างๆที่อาศัยอยู่ในรัฐๆหนึ่งก่อนสมัยการล่าอาณานิคมจะเกิดขึ้น เป็นผู้รับช่วงและปฏิบัติตามวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และมีวิถีความเป็นอยู่ สัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆและสัมพันธ์กับธรรมชาติ ชนเผ่าพื้นเมืองพยายามรักษาสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองของตนเองซึ่งแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ที่ครอบงำชีวิตของพวกเขา ประมาณกันว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกกว่า 300 ล้านคนใน 70 ประเทศ 

ซึ่งชนเผ่าในบ้านเรานั้น อาจอยู่ในนิยามของความหมายนี้ ในความหมายอย่างกว้างๆนั่นคือ ชาวเขา คือ กลุ่มชนต่างๆ หรือชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในรัฐๆหนึ่งก่อนการตั้งขึ้นของรัฐเป็นประเทศ โดยมีอัตลักษณ์และวิถีความเป็นอยู่สัมพันธ์กับกลุ่มอื่นๆและสัมพันธ์กับธรรมชาติ
ทีนี้มาถึงประเด็นที่ต้องการนำ เสนอในวันนี้ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งที่ประชุมโลกว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2536 ได้ประกาศ ให้มีการรับรองร่างปฏิญญาฯฉบับดังกล่าว โดยเร็ว แต่ปรากฏว่าสมัชชาสหประชาชาติเพิ่งลงมติรับรองร่างดังกล่าวเมื่อ 13 กันยายน 2550 ที่ผ่านมานี้เอง โดยมีสมาชิกสหประชาชาติลงนามรับรองทั้งสิ้น 143 ประเทศและลงนามไม่รับรอง 4 ประเทศ งดออกเสียง 11 ประเทศ

ประเทศที่ไม่รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชน เผ่าพื้นเมือง 4 ประเทศนั้นได้แก่ สหรัฐอมริกา (อภิมหาอมตะนิรันดร์กาลของประเทศที่ไม่เคยลงนาม กติกาสำคัญๆเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน)นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแคนาดา ทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวล้วนเป็นประเทศที่แย่งชิงดินแดนมาจากชนพื้นเมืองทั้งสิ้น

แต่เป็นที่น่ายินดี ที่รัฐบาลไทยสมัยนายกทักษิณ ได้ลงนามเห็นด้วยให้รับรองปฏิญญาฯฉบับนี้ก่อนการถูกยึดอำนาจเพียงไม่กี่วัน ซึ่งคอลัมน์นี้ขอแสดงความชื่นชมและปรบมือให้ด้วยความจริงใจ

เนื้อหาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้น เมือง กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของชนเผ่า นั่นคือ สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง หรือ Self-determination ซึ่ง ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ที่ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถดำรงอัตลักษณ์ของตนเองและสามารถจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและเลือกวิถีทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้ด้วยตนเอง

ปฏิญญาฯ นี้ยังเน้นถึงข้อกำหนดสำคัญประการต่อมา ก็คือ ชนเผ่าพื้นเมืองต้องได้รับการปรึกษาหารือ มีส่วนร่วมและให้ความยินยอม ก่อนที่จะมีการดำเนินกิจกรรมใดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชนเผ่า ต่อชุมชนชนเผ่า ต่อทรัพย์สิน ทรัพยากร หรือดินแดนของชนเผ่า ทั้งยังได้กำหนดให้ต้องได้รับค่าชดเชย เยียวยาที่พอเพียงถ้าสิทธิเหล่านี้ถูกละเมิด ที่สำคัญปฏิญญาฯนี้รับรองว่าจะกระทำทุกวิถีทางที่จะต่อต้านการล้างเผ่า พันธุ์ ให้ได้

ที่จริงสิทธิเหล่านี้ โดยเฉพาะสิทธิในการต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและให้ความยินยอมใน กิจการใดที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่า นั้น ทำให้คิดถึงรัฐธรรมนูญของเรา ปี 2540 เสียนี่กระไร เพราะมีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันในมาตรา 46 และ 56 เสียเหลือเกิน

    ก็ขอแสดงความยินดีต่อชน เผ่าพื้นเมืองทั่วโลกที่ มีกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศรองรับสิทธิมนุษยชนของท่านทั้งหลาย เพราะแม้ว่าจะไม่มีปฏิญญาฯฉบับนี้ ท่านทุกคนก็คือมนุษย์ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล อยู่นั่นเอง แต่เมื่อมีปฏิญญาฯนี้รับรองอีกชั้นหนึ่ง ท่านก็สามารถใช้อ้างเป็นไม้กันผี ได้อีก ยินดีด้วยครับ

ที่มา :: Jpthai.org

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น