Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ชนเผ่าพื้นเมืองในกระแสโลกาภิวัตน์

"วิถี ชีวิตที่อะไรๆ ที่เคยอยู่ก็หายไป ในพื้นที่มีการเสียพื้นที่ของลาวโซ่งเพราะว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม อะไรๆ เปลี่ยนหมด การเลี้ยงผีเปลี่ยนไป วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากการที่มีโรงงานเข้ามา คนหนุ่มสาวต้องเข้าโรงงาน ทุกๆ อย่างมีค่าใช้จ่าย มีมือถือเข้ามา..."
... ... ...
เนื่องในวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันชนเผ่าสากล และในปีนี้ ณ หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงานเทศกาลมหกรรมชนเผ่าแห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีการจัดงานเสวนาเรื่อง โลกาภิวัตน์และนโยบายรัฐชาติที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง มีนักวิชาการ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในส่วนของชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมเสวนา โดยมี อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ เป็นผู้ดำเนินรายการ - อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ สำนักข่าวประชาธรรมนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาบอกเล่า ดังนี้

หลากวัฒนธรรม กับหลายภาษา

ดร.นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล
เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีความหลากหลายในประเทศไทย ถ้าหากเราคิดว่าไม่ดีแล้วฆ่าไปให้หมดมันก็ไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าหากเราคิดว่าความหลากหลายนั้นมีข้อดี มีภูมิปัญญาจากหลายๆ เผ่าพันธุ์ เราจึงต้องทำอะไรสักอย่าง เราจะทำอะไร สิ่งที่สำคัญก็คือว่าความหลากหลายมีข้อดี แต่ว่าเราจะจัดการอย่างไร
ในเรื่องนโยบายของรัฐนั้น คิดว่าถ้ารัฐมีนโยบายออกมาก็มีปัญหา แต่ถ้ารัฐไม่มีก็สร้างปัญหาอีกเช่นกัน ตัวอย่างที่เราเห็นชัดๆ

ก็คือว่า ถ้าหากเราไปในลำพูนที่หมู่บ้านของคนมอญ ที่เราเรียกว่าเม็งนั้น คนอายุหกสิบขึ้นไปพูดภาษามอญเป็นคำๆ จะไม่มีคนที่พูดภาษามอญแบบสื่อสารได้ เพราะว่านิคมอุตสาหกรรมที่รัฐเอาลงมาในพื้นที่ ดึงเอาคนหนุ่มสาวที่พูดภาษามอญไปทั้งหมด

นโยบายในสมัย จอมพล ป. เรื่องภาษาไทย ถ้าหากไปเปิดดูหนังสือเขมรในสมัย จอมพล ป. นั้น ท่านเขียนชื่อใหม่หมดเลยเช่น ศรีศักร ก็เขียนเป็นสีสัก ห้ามใช้ชื่อที่ไม่ใช่ชื่อไทย และผลกระทบของความคิดเรื่องนโยบายภาษามันส่งผลมาถึงปัจจุบัน เขาไม่ใช้คำว่าเรื่องภาษาแต่ใช้คำว่านโยบายการจัดการศึกษาแห่งชาติแทนที่การ เรียนในราชอาณาจักรไทยนั้นใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ในมิติแบบนี้ทำให้หลายๆ แห่งสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ไป คือภาษาชุมชนของตนเอง

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาในปี 2546 พบว่าประเทศไทยมีภาษาไม่ต่ำกว่าหกสิบภาษา โดยที่ความหลากหลายนั้นถ้าเราดูจากการแต่งตัวที่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มันจึงยากมากในการแบ่ง เพราะฉะนั้นในทางวิชาการนักภาษาศาสตร์จึงใช้ตัวภาษาเป็นการวัด ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์ในการแบ่งที่ใช้ภาษาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งนโยบายที่สอนภาษาไทยเป็นหลักนั้นมีผลกระทบ 14 ภาษากำลังย่ำแย่ ไม่มีผลกระทบเฉพาะนโยบายการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลกระทบไปยังเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การพัฒนาต่างๆ ภาษาเหล่านี้กำลังจะหมดไป ที่ต้องการการเยียวยาอย่างรุนแรง คนที่เป็นแม่อาจจะไม่พูดกับลูกแล้ว หรือเป็นภาษาที่ไม่ค่อยมีคนพูดกันแล้ว
ดร.นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล

คำถามคือเราจะทำยังไงกับภาษาเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบจากนโยบายการศึกษา ผมเสนอว่านโยบายของภาษานั้นต้องชัดเจน ซึ่งมีนโยบายภาษาอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องมีการระบุว่านโยบายภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับการยอมรับ และมีการบรรจุในการเรียนของโรงเรียนรัฐเป็นเจ้าของ และต้องระบุว่าภาษาที่กำลังจะหายไป หรือวิกฤตต้องได้รับการดูแลอย่างพิเศษ เมื่อระบุแล้วไม่ใช่ว่าจะมีอยู่ตลอดไป สิ่งที่ตามมาคือเจ้าของจะไปทำอย่างไรกับภาษาของตัวเอง

เพียงแค่เราระบุให้รัฐส่งเสริมภาษานั้นไม่เพียงพอ ต้องมีเงื่อนไขภายในที่ต้องมีการเรียนรู้ภาษาแม่หรือว่าภาษาของตัวเอง เพราะภาษาพวกนี้นั้นเราเรียกว่าเป็นการล้อมปราบ ถูกล้อมด้วยคนเหนือ คนลาว เพราะฉะนั้นเราต้องสมัครสมานหาเพื่อน ทุกๆ คนที่เป็นเจ้าของภาษาต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ภาษาเหล่านี้ คงอยู่ต่อไป เพราะถ้าหากเราคิดผิด นโยบายท่องเที่ยวที่ทำภาษาหลากหลายให้อยู่เพื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว มีคนพูดหลายๆ ภาษาเพื่อให้คนอื่นๆ หันมาดู ตัวอย่างในประเทศจีนในภาษา แมนจู ที่เคยเป็นเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ที่ยังไม่หายไปก็เพราะว่าเขาต้องการให้นักท่องเที่ยวมาฟังแล้วก็จ่ายเงิน

นโยบายรัฐ กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
องค์ บรรจุล นักวิจัยอิสระชาวมอญ

วัฒนธรรมของมอญนั้นมีทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่า คนมอญในช่วงเวลานั้นน่าจะโดนกลืนไปเป็นคนไทยไปหมดแล้ว อาจจะมีกลุ่มคนมอญที่ยังเป็นมอญอยู่คือที่มาจาก อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ เราเรียกว่ามอญโบราณ

ความเห็นของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมชนั้นเขียนเอาไว้ว่าส่วนหนึ่งที่คนมอญนั้นเข้ากับคนไทยได้ดีมากเพราะ ว่า ชาวมอญทิ้งวัฒนธรรมจำนวนมากเอาไว้ คนมอญและคนไทยจึงเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน วัฒนธรรมมอญเข้ามาอยู่ในราชสำนักไทยด้วย ในทุกวันนี้พระสงฆ์ที่วัดชนะสงครามจะต้องเข้าไปสวดพระปริตมอญที่วัดพระแก้ว ทุกๆ วันพระ นี่เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมไทยไปรับเอาวัฒนธรรมมอญเอาไว้ และความสัมพันธ์ของราชสำนักไทยนั้นมันมีเข้มข้นมาก ดูที่พระมเหสีของกษัตริย์ไทยในรัชกาลที่ 1 ท่านก็เป็นคนมอญ อัมพวา ที่สมุทรสงคราม มีพระโอรส คือ รัชกาลที่ 2

องค์ บรรจุล นักวิจัยอิสระชาวมอญ
ความเป็นมอญในวันนี้นั้นอยู่มามากว่าสองร้อยปี สิ่งที่ทำให้แสดงความเป็นมอญได้เพราะว่าอยู่รวมกลุ่มกันมาเป็นเวลานานประมาณ สองร้อยปีแล้ว ส่วนที่ถูกทำลายนั้นก็ชัดเจนคือว่ามันมีกระบวนการทำลาย ที่เห็นได้ชัดคือ
การทำลายใน สมัย จอมพล ป. ที่วัฒนธรรมหลายส่วนหายไป การที่ทางการไทยห้ามใช้ภาษา แต่งกายนั้นเป็นการปฏิเสธความมีอยู่จริง เป็นการขัดความเป็นจริงของชีวิตในชุมชน คนมอญในชุมชนก็ยังใช้ภาษามอญในการพูดคุยกัน ตามวัดวาอารามก็ยังมีชื่อที่เป็นภาษามอญอยู่

ส่วนในกรณีของประกาศที่ทางรัฐบาลพยายามกระทำ ที่ชัดเจนคือในสมัย จอมพล ป. นั้นเกลียดความหลากหลาย ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นมอญแถวนนทบุรีกับเป็นคนจีน นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมาเมื่อครั้งที่ จอมพล ป. ยังมีอำนาจ และไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งที่สมุทรสาคร 

เพราะว่าเมื่อเร็วๆ นี้ นายวีรยุทธ เอี่ยมอำพา ผู้ว่าราชการจังหวัด มีประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคม ถึงสถานจัดหางานต่างๆ ที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาจำนวนมาก ประกาศถึงชุมชนต่างด้าว ก่อให้เกิดปัญหากระทบเมื่อรวมตัวกันเป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาต่างๆ รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของต่างด้าว ที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดความไม่เหมาะสม ความมั่นคง ซึ่งถือว่าท่านเป็นตัวแทนของรัฐชาติ น่าแปลกที่ท่านก็มีเชื้อสายมอญ และจีนเหมือนกัน เหมือนกับจอมพล ป. มาก

สิ่งที่ประกาศออกมานั้นส่งผลกระทบมาก ไม่เฉพาะแรงงานต่างด้าว ซึ่งลำพังท่านก็ไม่มีสิทธิประกาศในลักษณะนี้เพราะว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิ มนุษยชนสากล รัฐธรรมนูญหลักของประเทศ ที่ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตนเองโดยที่ไม่กระทบกับสิทธิของ ผู้อื่น ว่าสิ่งที่ท่านประกาศนั้นไม่มีผลเฉพาะเพียงแรงงานต่างด้าว แต่ว่าไปกระทบชุมชนมอญหลักดั้งเดิมที่มีชุมชนอายุกว่า 200 ปีไปด้วย เป็นการไปปิดกั้นอัตลักษณ์ที่แสดงออกอยู่ เกิดปรากฎการณ์วงกว้างที่เป็นการสะเทือนอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชาวมอญ

แต่เมื่อเรามาดูวัฒนธรรมมอญที่อยู่ในสังคมไทยดั้งเดิม ที่ท่านผู้ว่าปฏิเสธ อย่างเช่น ขนมจีน ข้าวแช่ที่อยู่ในสังคมไทยที่เป็นวัฒนธรรมมอญดั้งเดิมนั้นเราต้องยกเลิกไป หรือเปล่า วัฒนธรรมดนตรีไทยที่อยู่ในราชสำนัก ครูเอื้อ สุนทรสนานที่แต่งเพลงจากการที่ท่านเป็นมอญนั้น นาฏศิลป์ คนตรี อาหาร ภาษา สิ่งเหล่านี้อยู่ในสังคมเป็นเวลายาวนานอย่างแยกกันไม่ออกแล้ว ถ้าปฏิเสธวัฒนธรรมต่างด้าวแล้วเราจะทำอย่างไร ซึ่งไม่เพียงเฉพาะมอญเท่านั้น ยังมีวัฒนธรรมจีน กะเหรี่ยง หรือม้ง จำนวนมากมายที่ทางการรัฐชาตินั้นปฏิเสธกันมากเหลือเกิน

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเรื่องระบบการศึกษาของรัฐชาติก็เกิด ปัญหา เพราะว่าเกิดมาก็พูดภาษามอญ ก็ต้องหัดมาพูดภาษาไทยกัน เพื่อที่จะเข้าโรงเรียน แต่เมื่อมีการพูดภาษามอญกันครูก็ตี ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่หลายๆ กลุ่มก็พบ ส่วนตัวเองเพิ่งมาเปิดตัวมาไม่นานนี้เอง ทำให้อัตลักษณ์ถูกปิดกั้นไปเพราะว่าอาย ที่ถูกครูตีมาตั้งแต่เด็ก

นโยบายของรัฐไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง ชัดเจน แต่ว่าไปศึกษาเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการทำลายโดยตัวของมันเอง ความเป็นมอญหายไป อะไรก็ขาย วัฒนธรรมดั้งเดิมหายไป ความเป็นชุมชนหายไป ความเอื้อเฟื้อหายไป มันก็กลับมาทำลายตัวเอง

คนมอญนั้นในเวลานี้ภาษาและวัฒนธรรมนั้นวิกฤตมาก การจะดึงเยาวชนให้เข้ามาก็ยาก รัฐไม่สนับสนุน เยาวชนคนมอญก็ไม่เอา สิ่งเดียวที่ทำได้คือการพึ่งตนเอง เพราะว่าเราถือเป็นหนี้ที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษ เราขอทำหน้าที่มอบอารยธรรมให้รุ่นต่อๆ ไปแต่เราไม่อยากหายไปในรุ่นของเรา ถ้ามันจะหายไปก็ขอให้หายไปตอนที่เราตายไปแล้ว

การท่องเที่ยว กับการทำลายวัฒนธรรม
.ถนอม คงยิ้มละมัย ตัวแทนชาวบ้าน ไททรงดำ

สมัยนี้เด็กๆ ไหว้แต่คอมพิวเตอร์ เด็กไม่กินเผือกมัน กินแต่ขนมกรอบๆ ไม่ช่วยทำงาน คือวิถีชีวิตที่อะไรๆ ที่เคยอยู่ก็หายไป ในพื้นที่มีการเสียพื้นที่ของลาวโซ่งเพราะว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรม อะไรๆ เปลี่ยนหมด การเลี้ยงผีเปลี่ยนไป วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากการที่มีโรงงานเข้ามา คนหนุ่มสาวต้องเข้าโรงงานทุกๆ อย่างมีค่าใช้จ่าย มีมือถือเข้ามา

.ถนอม คงยิ้มละมัย ตัวแทนชาวบ้านไททรงดำ
แม่สอนตัวเองว่ามีสิ่งสำคัญสี่เรื่อง คือรู้จักอยู่ ต้องทำงานบ้าน ต้องปลูกต้นพริกเพื่อที่จะได้กินวันอื่นๆ รู้จักทำกับข้าวกินเอง แต่เดี๋ยวนี้ไปชื้อเอา ลูกทำกินไม่เป็น
การท่องเที่ยวที่กำลังเข้ามาในชุมชน กลายเป็นว่าพวกเราก็เชื่อคนเหล่านี้ เขาออกแบบชุดรับแขกออกมาให้ แล้วเราก็เชื่อ มันแปลกออกไปจากลาวโซ่ง พวกท่องเที่ยวบอกมาให้เราประยุกต์ชุดรับแขก ก็เป็นการทำลายวัฒนธรรมของพวกเราไป

อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แต่เดิมถ้าหากเราพิจารณาอดีต เรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรมชาติพันธุ์นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ละกลุ่มมีปัญญา ภาษา มีวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน แต่ความหลากหลายดังกล่าวนั้นมีกลไกที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือว่าพิธีการที่ เกิดการบูรณการนา การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนต้นน้ำ ปลายน้ำ คนทะเล หรือว่าบนบก ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งในบางโอกาส แต่ภูมิปัญญาของคนเหล่านี้ทำให้เกิดการรวมกันได้อาจจะผ่านการเคารพบูชาสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ หรือพิธีกรรมต่างๆ แข่งเรือ บั้งไฟ ทำให้เกิดความสมานฉันท์ แบ่งปันเอื้อเฟื้อ

แต่เมื่อคนเหล่านี้ถูกผนวกรวมกันเป็นคนที่อยู่ในรัฐชาติ เริ่มมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสฤษฎิ์ เปลี่ยนความหลากหลายให้เกิดการบูรณาการแห่งชาติ ในสมัยจอมพล ป. สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกเปลี่ยนไปมีการออกกฎหมายเพื่อที่จะบอกว่า เพื่อที่เป็นการเป็นคนไทยทีมีความทันมัยนั้นต้องแต่งตัว

 ในระยะหลังนโยบายที่มีต่อชาวเขาก็เป็นบูรณาการเพื่อทำให้ชาวเขากลายเป็นคน ไทย แม้แต่ชื่อเรียกชนเผ่าถูกเปลี่ยนเพื่อทำให้เป็นหนึ่งเดียวมีการใส่คำว่าไทย ซึ่งเป็นภาพลวงตา ที่รัฐต้องการที่จะควบคุมคน การใช้ทรัพยากร เพื่อที่จะทำให้เป็นชาตินิยมเกิดขึ้น นโยบายดังกล่าวทำให้กลุ่มอื่นๆ ที่มีความหลากหลายเกิดผลกระทบ ไม่สามารถจะแสดงความเป็นตัวตน หยิบเอา กลไก วัฒนธรรมที่มีอยู่ในการแก้ปัญหามาใช้ได้
อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐ นโยบายหันมาให้ความสนใจเรื่องความหลากหลาย ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ไปพรางตา ทำให้มองว่าชาติใดที่มีความหลากหลายแสดงถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่ไปส่ง เสริมเรื่องการท่องเที่ยว แต่ว่าในขณะเดียวกันนั้นมันเข้าไปบดบังเรื่องความไม่เท่าเทียม เพราะเราอยากจะเห็นสิทธิของกลุ่มชนที่หลากหลายอย่างมีการเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ซึ่งเราจะดูจากนโยบายของรัฐอย่างเดียวไม่ได้ กระแสบริโภค การท่องเที่ยวพยายามที่จะเสนอวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นสินค้าที่เปลี่ยนไปเพื่อ ผลประโยชน์ เฉพาะหน้าทำให้วัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนไป มีผลกระทบซ้ำต่อความอ่อนแอทางวัฒนธรรม.

ที่ีมา :: http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=a1_17092008_02

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น