Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

พิธีแต่งงานชนเผ่าพื้นเมืองไทลื้อ

   ความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีงานแต่งงานของชาวไทลื้อ ที่ชุมชนบ้านถิ่น อ.เมือง จ. แพร่ สำหรับที่นี่แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป หนุ่มสาวใช้ชีวิตตามวิถีคนเมือง แต่เมื่อถึงเวลามีคู่ครองบรรดาหนุ่มสาวชาวไทลื้อ ก็ยังคงสืบสานประเพณีการแต่งงานแบบดั้งเดิมเอาไว้

"ลื้อ" เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท คือ "ไทลื้อ" หรือ "ไตลื้อ" มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในเขตสิบสองปันนาสำหรับประเทศไทย ชาวไทลื้อได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองต่างๆในภาคเหนือตอนบน ในจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และ เชียงใหม่

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่ลูกหลานชาวไทลื้อก็ยังคงไม่ลืมรากเหง้าและวัฒนธรรมประเพณี ที่บรรพบุรุษได้สืบทอดต่อกันมาช้านาน เมื่อตัดสินใจจะมีคู่ครอง ก็เลือกที่จะจัดงานแต่งตามแบบฉบับของชาวไทลื้อ ผู้ที่มาร่วมงานแต่งต่างก็แต่งตัวตามประเพณี



ผู้หญิงจะสวมเสื้อแขนยาวสีดำ หรือสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า "เสื้อปั๊ด" นุ่งผ้าถุง โพกศีรษะด้วยผ้าฝ้ายสีขาวหรือสีชมพู ส่วนผู้ชายใส่เสื้อแขนยาว สวมเสื้อกั๊กปักลวดลาย สวมกางเกงม่อฮ่อมขายาวโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู และสะพายถุงย่าม

ที่เห็นอยู่นี้นับเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของพิธีแต่งงาน พ่อแม่ของฝ่ายหญิงต้องมาที่บ้านฝ่ายชาย เพื่อบอกกล่าวขอลูกเขยจากพ่อแม่ฝ่ายของชายเสียก่อน สาเหตุที่ขั้นตอนนี้ที่สำคัญที่สุดก็เพราะหากพ่อแม่ฝ่ายชายไม่ยอมยกลูกชายให้ หนุ่มสาวก็ไม่สามารถแต่งงานกันได้นั่นเอง

หลังจากพ่อแม่ฝ่ายชายตอบตกลงก็จะตั้งขบวนแห่เขย โดยมีขบวนช่างฟ้อนและช่างสะล้อซอซึง บรรเลงดนตรีประกอบการร่ายรำแบบไทลื้อ นำขบวนผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยญาติมิตร ที่ล้วนแต่งกายด้วยชุดไทลื้อ อย่างงดงามตามประเพณี ไปยังเรือนของเจ้าสาว

และเมื่อมาถึงเรือนเจ้าสาว ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงจะดักกั้นที่หน้าประตู ซักถามว่ามาทำอะไรกัน มีทองคำ เพชรพลอย มาให้เจ้าสาวหรือเปล่า เปรียบเทียบเหมือนกับการกั้นประตูเงินประตูทองนั่นเอง เมื่อได้คำตอบแล้ว จึงอนุญาตให้เจ้าสาวที่ซ่อนตัวอยู่ออกมาหาเจ้าบ่าวได้ โดยเจ้าบ่าวก็จะถูกพาไปซ่อนไว้เช่นกัน เจ้าสาวก็ต้องตามหาให้เจอเพื่อแสดงถึงความรักแท้ ก่อนจูงมือกันเข้าสู่เรือนหอ

พิธีเริ่มด้วยการกราบพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อขอบคุณที่อนุญาตให้ทั้งคู่แต่งงานกัน จากนั้นก็มอบสินสอดให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง ประธานในพิธีคล้องมาลัยและสวมมงคลให้บ่าวสาว จากนั้นเป็นพิธีบายศรีสู่ขวัญ หรือตามภาษาไทลื้อเรียกว่าพิธี "สู่ข้าวเอาขวัญ" โดยผู้ทำพิธีก็จะบอกกล่าวบรรพบุรุษขอให้คุ้มครองให้บ่าวสาวครองเรือนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
   สำหรับประเพณีไทลื้อนั้นจะไม่มีการรดน้ำสังข์เหมือนกับประเพณีการแต่งงานของไทย แต่พ่อแม่ ผู้ใหญ่แขกเหรื่อที่มาร่วมงานจะใช้วิธีการผูกข้อมือให้บ่าวสาว ความหมายของการผูกข้อมือ คือ การที่ผู้ใหญ่เอาใจมาช่วย มาอวยพรให้ทั้งคู่อยู่ติดกันชั่วชีวิต

จากนั้นก็ได้เวลาส่งตัว ประธานงานแต่งจะจูงมือบ่าวสาวเข้าห้องหอ พร้อมพูดเตือนสติ สั่งสอน และอวยพร ตามด้วยพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวอวยพรให้กับทั้งคู่

ก่อนจะออกจากห้องหอเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องช่วยกันดึงเส้นด้ายที่ผูกข้อมือออก ห้ามใช้กรรไกรหรือของมีคมตัดเด็ดขาด ซึ่งเป็นการสอนให้ทั้งคู่มีความอดทน มานะ พยายาม ซึ่งเป็นการวัดอย่างหนึ่งว่าทั้งคู่จะรักกันไปตลอดได้หรือไม่ ถ้าใช้กรรไกรหรือของมีคมตัดก็เท่ากับว่าทั้งคู่ตัดขาดจากกันนั่นเอง

ในพิธีแต่งงานก็จะประดับและตกแต่งด้วยตุง 12 ราศี ที่ตั้งไว้รอบบ้าน ความหมายก็คือ ให้ 12 นักษัตรคุมครองปกปักษ์รักษาคู่บ่าวสาวให้อยู่เย็นเป็นสุข ตุงลื้อ นี้คือ สัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนตุงชัย ความหมายคือ ขอให้มีชัยชนะ ศัตรูพ่ายแพ้ไปนั่นเอง

พิธีแต่งงานของชาวไทลื้อนั้นเรียบง่ายและแสดงให้เห็นถึงความเคารพบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นความงดงามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทลื้อพยายามที่จะถ่ายทอดและปลูกฝังให้กับลูกหลาน มาวันนี้คนรุ่นเก่าต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจ ที่บรรดาลูกหลานยังคงช่วยกันและสืบสานประเพณีดั้งเดิมนี้เอาไว้

จากประเพณีงานแต่งงานของชาวไทลื้อ จะเห็นว่าบรรพบุรุษของชาวไทลื้อได้สอดแทรกคำสั่งสอนและแง่คิดในการใช้ชีวิตคู่ให้กับลูกหลานไว้มากมาย ที่สำคัญยังปลูกฝังให้ลูกหลานแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่ และผู้ใหญ่ นับเป็นสิ่งที่งดงามและทำให้ชุมชนชาวไทลื้อยังคงเหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา voice tv

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น