กลุ่มกระจกเงาเผย 10 ตัวอย่างโฆษณาล้อเลียนชนเผ่า หนังแผ่นเรื่อง "มิดะ"มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขายประเวณีของชนเผ่า ส่งผลให้ภาพลักษณ์เสียหาย นอกจากนี้มีหนังเรื่อง"ซาไก ยูไนเต็ด" เน้นเรื่องความไม่รู้เท่าทันคนในเมืองของเผ่าซาไก รวมทั้ง"แจ๋ว" ที่สื่อให้เห็นว่าชนเผ่าปกากะญอพูดไม่ชัด ทำให้คนฟังตลก ขบขัน เช่นเดียวกับโฆษณา "คลอเร็ท" ที่มีติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี เป็นพรีเซ็นเตอร์ เนื้อหาเกี่ยวกับการพูดไม่ชัด ทำให้ชนเผ่าคิดมากกับโฆษณาชิ้นนี้ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ระบุเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ลำเอียงชาติพันธุ์ จี้ระงับโฆษณาทั้งหมด ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 ก.ย.ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิกระจกเงา แถลงข่าวการจัดงานประกวดหนังสั้นและสารคดีชนเผ่า เพื่อเป็นการจัดทำสื่อที่เสริมสร้างความถูกต้องของวัฒนธรรมอันดีงามชนเผ่า โดยภายในงานมีการเปิดเผย 10 ตัวอย่างของสื่อล้อเลียนชนเผ่า ได้แก่
1.เพลงมิดะ ซึ่งขับร้องโดยจรัล มโนเพ็ชร มีเนื้อหานำเสนอโดยไม่มีความชัดเจนในข้อมูล สื่อให้เห็นถึงเสรีภาพในการมีเพศสัมพันธ์ของชนเผ่าอาข่า มีผู้หญิงทำหน้าที่สอนการมีเพศสัมพันธ์ให้กับผู้ชายในหมู่บ้านบนลานสาวกอด ทั้งที่ความจริงไม่มีประเพณีดังกล่าว และลานสาวกอดยังถือเป็นลานวัฒนธรรมของชนเผ่าอาข่า
2.ภาพยนตร์เรื่องมิดะ 1 เป็นภาพยนตร์แผ่นวีซีดี มีเนื้อหาสื่อให้เห็นการขายประเวณีของสาวชนเผ่าว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งความจริงไม่มีวิถีชีวิตแบบนั้น และยังมีบทบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ สื่อให้เห็นว่าสื่อดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ นอกจากจะนำมาซึ่งภาพลักษณ์ไม่ดีของชนเผ่าแล้ว ยังรวมถึงประเทศไทยด้วย
3.ภาพยนตร์เรื่องมิดะ ตำนานแห่งขุนเขา ซึ่งทำเป็นแผ่นวีซีดี บิดเบือนวัฒนธรรมอันถูกต้องของ 2 เผ่าคือ อาข่า และม้ง เนื่องจากในเรื่องมิดะแต่งกายผิดเผ่า แทนที่จะเป็นเผ่าอาข่าแต่กลับแต่งกายแบบม้ง และเนื้อหาของเรื่องเป็นแนวอีโรติกและมีเนื้อหาสื่อถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในด้านเพศ ซึ่งคนชนเผ่าเกิดความรู้สึกว่าเป็นการดูหมิ่นชนเผ่าอย่างรุนแรง
4.ภาพยนตร์เรื่องแจ๋ว ในเรื่องมีสาวใช้เป็นเผ่าปกากะญอ โดยบทมีลักษณะเจตนาสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การด้อยความรู้ รวมทั้งคำพูดที่ไม่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความตลก ขบขัน เหมือนเป็นตัวตลก
5.ภาพยนตร์เรื่องซาไก ยูไนเต็ด เสนอวิถีชีวิตของชนเผ่าซาไก เช่นความไม่รู้เรื่องต่างๆ เท่าคนเมือง การไม่รักษาความสะอาด ด้วยเจตนาทำให้ขบขัน
6.ภาพยนตร์นานาช่า บทของเด็กน้อยชื่อ "เซียง" เด็กชนเผ่าที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่มักถูกเพื่อนกลั่นแกล้งและล้อ
7.โฆษณา คลอเร็ท ชุด ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ล้อเลียนเรื่องการใช้ภาษาที่นักแสดงพูดไทยไม่ชัด ซึ่งคนชนเผ่าส่วนใหญ่ค่อนข้างคิดมากกับเรื่องนี้เหมือนเป็นการถูกล้อ เยาะเย้ย
8.ภาพยนตร์เรื่องพยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า มีตัวแสดงเป็นคนเผ่าปกากะญอพูดไทยไม่ชัด
9.วงดนตรีโปงลางสะออน ที่แสดงคอนเสิร์ตเผยแพร่สู่โทรทัศน์ ในวงมีนักร้องหญิงคนหนึ่งแสดงออกทางภาษาด้วยการพูดไม่ชัด และการพูดสองแง่สองง่าม
10.ภาพยนตร์เรื่องเพลงรักลูกทุ่งล้านนา ที่มีบทล้อเลียนเด็กหญิงชนเผ่าที่พูดไทยไม่ชัดและคำสองแง่สองง่ามเช่นกัน
นอกจากนี้จากเวทีเสวนาเรื่อง "เมื่อคนไทยชนเผ่า..ต้องถูกเล่าผ่านสื่อ" มีการพูดคุยถึงความเหมาะสมของประเด็นดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
รศ.ชูพินิจ เกษมณี ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า สำหรับกรณีของเพลงมิดะถือว่ารุนแรงที่สุดจากกรณีที่ยกมา ตนมีเพื่อนเป็นคนเผ่าอาข่าเล่าให้ฟังว่าขณะนั้นจรัล มโนเพ็ชรปรึกษากับคนๆ หนึ่งแล้ว แต่อาจทำให้ได้ข้อมูลผิดๆ ไป คิดว่าจรัลคงไม่มีเจตนาจะบิดเบือนจุดนั้น ส่วนกรณีอื่น เช่น เรื่องภาษา แม้หลายคนอาจจะมองว่าไม่ร้ายแรง แต่ต้องถือว่ามีผลต่อความรู้สึก เหมือนเป็นการดูถูก บางเรื่องดูถูกทั้งคนชนเผ่าและคนดูเอง ตนไม่เข้าใจว่าทำไมเวลานางงามหรือคนที่เล่นบทพระเอกนางเอกในหนังหรือละครที่พูดไม่ชัด คนทั่วไปยังมองว่าน่ารัก แต่คนชนเผ่าพูดไม่ชัดกลับมองเป็นเรื่องน่าขบขัน แบบนี้แสดงให้เห็นถึงความลำเอียงทางชาติพันธุ์ ตนคิดว่าสื่อบางอย่างถ้ารู้ว่าเจ้าของวัฒนธรรมเขาไม่พอใจ สิ่งใดยับยั้งได้ควรทำ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ด้านนายณัฐพล สิงห์เถื่อน หัวหน้าโครงการบ้านนอกทีวี ของมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการยับยั้งหรือระงับสื่อบางตัวสามารถทำได้ อย่างที่ผ่านมาเกิดกรณีของเอ็มเคสุกี้พิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับมิดะอย่างไม่ถูกต้องลงบนกระดาษซึ่งเป็นจานรองสุกี้ ตอนนั้นสมาคมอาข่าที่เชียงใหม่ลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างหนัก จนต้องยกเลิกไปในที่สุด "ส่วนของกรณี 10 ตัวอย่างนี้ขึ้นอยู่กับคนชนเผ่าที่จะลุกขึ้นมา กรณีของ "มิดะ" รุนแรงมากในความรู้สึกของคนชนเผ่า บางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาได้และเคยเกิดขึ้นมาแล้วแต่ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่เพราะคนชนเผ่าเหล่านี้เกิดความอับอายที่จะเปิดเผย เคยมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวแล้วเข้าใจผิดในประเพณี และเข้าใจผิดกับคำว่ามิดะ เข้าไปลวนลามหญิงสาวชนเผ่า จริงๆ แล้วมีตัวอย่างอีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงการล้อเลียนชนเผ่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น" นายณัฐพล กล่าว
ด้านนายอาตี เชอหมื่อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ชนเผ่าอาข่าจากเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันความเจริญเข้าสู่พื้นที่คนชนเผ่ามากขึ้น ทำให้สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากหนังหรือสื่อโฆษณาจากในทีวี แต่สำหรับเรื่องที่รุนแรงมากที่สุดคือเรื่อง "มิดะ" เพราะเราไม่มีประเพณีแบบนั้น จริงๆ แล้ว "มิดะ" แปลว่าหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน ซึ่งไม่มีตำแน่งหน้าที่แบบนั้นเลย ส่วนลานสาวกอดก็เป็นที่ถ่ายทอดประเพณีของเราจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่ใครนึกชอบใครอยากจะกอดใครก็ทำได้ ส่วนเรื่องการล้อเลียนเรื่องภาษา แม้จะไม่รู้สึกรุนแรงเท่าเรื่องมิดะแต่ไม่น่าจะนำมาเป็นเรื่องตลกขบขัน เพราะก่อให้เกิดความอับอายแก่คนชนเผ่า บางคนอายจนไม่กล้าออกไปไหน จริงๆ พวกเราอยากพูดให้ชัด เหมือนกับที่คนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ชัดเพราะเป็นภาษาที่ 2
ที่มา http://news.sanook.com
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น