Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

รัฐบาล ชนเผ่าพื้นเมือง หรือ ใคร ที่ควรได้รับการครอบครองพื้นที่บนแผ่นดินไทย

สิทธิทำกินในที่ดินของชนพื้นเมือง
สุรพงษ์ กองจันทึก
ปัญหา เรื่องสิทธิในที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่า ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องที่มีมาตลอดเวลา เมื่อพื้นที่ป่ามีน้อยลง ความจำเป็นต้องรักษาป่าไม้มีความสำคัญเพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวบ้านก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ชาวบ้านอ้างว่าอยู่กันมานานแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่บอกว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่า
ฝ่ายหนึ่งถือสิทธิครอบครอง อีกฝ่ายถือกฏหมาย
ความถูกต้อง ความเป็นธรรมควรเป็นอย่างไร
ลอง มาพิจารณาดูคดีกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก จังหวัดสุพรรณบุรี รวม ๓ ราย จำเลย กับพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์ ในเรื่องความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ

กะเหรี่ยงบ้านป่าผาก สุพรรณบุรีจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีกะเหรี่ยง เป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มาหลายร้อยปีแล้วเมื่อ สุนทรภู่มาเมืองสุพรรณบุรี ได้เขียนนิราศเมืองสุพรรณ เป็นโคลงสี่สุภาพ ขณะพายเรือเที่ยวตามแม่น้ำท่าจีนหรือเรียกกันที่สุพรรณบุรีว่า แม่น้ำสุพรรรณบุรี ก็พบชาวกะเหรี่ยงอาศัยทำกินริมแม่น้ำสุพรรณบุรี

ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กรุงศรีอยุธยามีหัวหน้ากะเหรี่ยงชื่อ “แสนภูมิโลกาเพชร” ซึ่งเป็นกะเหรี่ยงเป็นนายกองด่านหน้าในการรบกับพม่าพระองค์ใช้กะเหรี่ยงซึ่งชำนาญพื้นที่ป่าเขา เป็นกองอาทมาต หรือหน่วยหน้า คอยสอดแนมและหาข่าวการเคลื่อนไหวของพม่า

กะเหรี่ยงที่สุพรรณบุรี โดยเฉพาะบ้านป่าผาก ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งชุมชนอย่างสงบสุขมาเนิ่นนาน เป็นชุมชนดั้งเดิมเก่าแก่ อยู่มาก่อนคนกลุ่มอื่นจะเข้ามาทำกินแถบนี้เมื่อครั้งรองอมาตย์เอกขุนอนุพิศวิถีการ แม่กองรังวัดภูมิประเทศในสนาม ออกสำรวจพื้นที่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก-องค์พระ และได้เขียนหนังสือแสดงความชื่นชมและขอบใจผู้นำที่ต้อนรับดูแลด้วยดี ตลอดจนมีการปกครองกันอย่างสงบสุขต่อมามีการประกาศพื้นที่ป่าสงวนป่าองค์พระ และป่าพุระกำ ทับที่ชาวบ้าน โดยชาวบ้านไม่มีโอกาสคัดค้าน

พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมปศุสัตว์ขอใช้พื้นที่ป่า ๑๒๙๐ ไร่ เพื่อสร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี โดยไม่มีการแจ้งชาวบ้าน และให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยไม่มีการชดเชยความเสียหาย หรือจัดสถานที่รองรับ พ.ศ. ๒๕๔๑ กรมอุทยานแห่งชาติ ประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย พร้อมกับพยายามผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่

พื้นที่ชาวบ้านที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้จัดทำโครงการแปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ
พ.ศ. ๒๕๔๓ กรมชลประทาน ได้รับพื้นที่จากกรมป่าไม้ ๓๕๐ ไร่ เพื่อจัดสร้างเขื่อนชลประทานขนาดเล็ก โครงการอ่างเก็บน้ำองค์พระจากการทำกินอย่างสงบสุขมาหลายร้อยปี โดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิ์ใดๆ เมื่อรัฐเข้ามาดำเนินการในพื้นที่เมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีโครงการต่างๆเข้ามามากมาย หลายหน่วยงาน ล้วนอ้างว่ามาพัฒนา เพื่อชาวบ้าน เพื่อชุมชน ใช้บุคคลากร งบประมาณ มหาศาล


 แต่ผลที่ได้คือ ชาวป่าผากไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน ไม่สามารถใช้วิถีแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำอย่างพออยู่พอกินได้ดังก่อนหากชาวบ้านแอบใช้พื้นที่ทำกิน เพาะปลูกเพื่อยังชีพ ก็ถูกจับข้อหาบุกรุก พื้นที่อุทยานแห่งชาติชาวบ้านป่าผากไม่ได้นิ่งเฉยเมื่อมีโครงการต่างๆเข้ามา ได้พยายามชี้แจงกับทุกหน่วยงาน เพื่อขอที่อยู่ที่ทำกินดังเดิม แต่เสียงเล็กๆของกลุ่มเล็กๆ ดูจะไม่เป็นที่สนใจ โครงการต่างๆก็ดำเนินต่อไป

ชาวบ้านร้องเรียนไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยว่า หน่วยราชการมีสิทธิที่ดีกว่า เพราะชาวบ้านไปบุกรุกป่าสงวนชาวบ้านจึงฟ้องร้องไปที่ศาลปกครองกลาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆเลย จนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังร้องเรียนไปที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภาปรากฏ ว่า ทางวุฒิสภาส่งผู้แทนเข้าตรวจสอบในพื้นที่ และผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าพื้นที่

โดยประสานงานกับกรมปศุสัตว์ แต่ไม่มีความคืบหน้าหลังจากนั้นจน ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการสิทธิในการ จัดการที่ดินและป่าตรวจสอบ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและลงพื้นที่หลายครั้ง

ผลการตรวจสอบพบว่า การประกาศเขตป่าสงวนทับพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้านป่าผาก การขอใช้ที่ดินของกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี การสร้างอ่างเก็บน้ำองค์พระโดยกรมชลประทาน มีปัญหาจริง และสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนบ้านป่าผากเป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ของโครงการดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นที่ทำกินเดิมของชุมชนป่าผาก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่มีอำนาจในการสั่งการใดๆต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ทำได้เพียงเสนอความเห็นให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งข้อเสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน คือ
๑. พื้นที่ที่กรมปศุสัตว์ขอใช้จากกรมป่าไม้ เพื่อจัดตั้งสถานีอาหารสัตว์ จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน๑๒๙๐ ไร่นั้น บางจุดไม่มีการใช้งาน ปล่อยเป็นที่รกร้าง สามารถนำมาจัดสรเป็นที่ทำกินให้ชาวป่าผากที่ไม่มีที่ทำกินได้
๒. พื้นที่บางแปลงของป่าสงวนป่าองค์พระ ป่าพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู มีการบุกรุกครอบครองของกลุ่มทุนนอกพื้นที่ ควรมีการตรวจสอบการครอบครอง หากไม่ชอบควรนำพื้นที่มาจัดสรรให้ชาวบ้านป่าผากที่ไม่มีมีทำกิน
๓. ควรยกเลิกการจับกุมที่กำลังดำเนินการ อันเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างหนักต่อชุมชนในขณะนี้
แต่ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สภาทนายความเข้าช่วยเหลือทางคดีแก่ชาวบ้านที่ถูกจับกุม ๓ ราย ข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ

คำพิพากษาของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีศาลจังหวัดสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษา เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๕๘๓/๒๕๔๙ ว่า“จำเลยทั้งสามเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอยู่ที่บ้านป่าผาก ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านป่าผากมีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายแล้ว มีวิถีชีวิตในการปลูกพืชและข้าวหมุนเวียนไว้กินเอง โดยมีที่ดินทำกินอยู่รอบหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร

เมื่อปลูกข้าวไร่ในที่ดินแปลงหนึ่งประมาณ ๕ ถึง ๖ ไร่แล้ว และดินเริ่มไม่ดี ก็จะไปทำไร่ข้าวในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง เพื่อรอให้ที่ดินแปลงเดิมฟื้นสภาพ และจะเปลี่ยนที่ดินทำไร่ไปในแต่ละแปลงรอบหมู่บ้าน จนครบระยะเวลา ๕ ปี ก็จะกลับไปทำไร่ข้าวในที่ดินแปลงแรกอีก หมุนเวียนกันไปในลักษณะเช่นนี้
ที่เกิดเหตุเป็นไร่ซาก ซึ่งเคยใช้เป็นไร่ข้าวมาก่อน และเป็นหมู่บ้านเก่าตั้งแต่ปู่ย่าตายายในวันเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไปช่วยเพื่อนบ้านหยอดข้าวในที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ร่วมหยอดข้าวด้วย

เช่นนี้ ตามพฤติการณ์ทำให้เห็นว่า จำเลย ที่ ๒ และที่ ๓ กระทำไปโดยสำคัญผิดได้ว่า ที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ใช้ทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิม มาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงสามารถเข้าไปหยอดข้าวได้ เป็นการขาดเจตนา ส่วนจำเลยที่ ๑ ก็ฟังไม่ได้ว่า มีส่วนร่วมในการหยอดข้าวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ”

ศาลเห็นว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงทำมาหากินโดยวิธีการดั้งเดิมและสุจริต ย่อมไม่มีเจตนาบุกรุกและทำความเสียหายแก่พื้นที่ป่าไม้ จึงไม่มีความผิดตามกฏหมายป่าไม้

กรรมสิทธิ์ตามกฏหมายตราสามดวง
ชาวกะเหรี่ยงเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ตามผืนป่าด้านตะวันตกของประเทศไทยมาเนิ่นนานหลายร้อยปี ด้วยวิถีชีวิตรักสงบรักษาธรรมชาติ ทำให้พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงเป็นผืนป่าสมบูรณ์ เมื่อ ทางราชการต้องการกันพื้นที่ป่า เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จึงมีการประกาศพื้นที่เหล่านั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ทำให้กะเหรี่ยงซึ่งส่วนมากอยู่ทำกินในแผ่นดินนั้นมาเป็นร้อยปีเดือดร้อน บางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยและไม่ประสีประสาต่อกฎหมายของรัฐ จำต้องอพยพออกจากแผ่นดินที่พวกตนทำกินมาเป็นร้อยปี แต่บางกลุ่มที่มีจำนวนมากพอและมีการพัฒนามีความรู้อยู่บ้าง เช่น มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน มีหน่วยของตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งอยู่ กรมป่าไม้ยังเกรงใจไม่กล้าขับไล่โดยตรง เพราะการที่จะประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาตินั้นต้องมีการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ในพื้นที่ที่มีหมู่บ้านตั้งมาก่อนเป็นร้อยปีนั้น บริเวณหมู่บ้านย่อมหมดสภาพเป็นป่าอันเหมาะสมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างปลอดภัย หรือยังคงสภาพเดิมแต่อย่างใด จึงต้องกันพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำกินไว้นอกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ แต่ในการสำรวจที่เป็นจริงกลับไม่สนใจหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขากะเหรี่ยง จึงประกาศทับพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำกินแล้วพยายามขับไล่ชาวเขาออก นอกจากนี้ การที่กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ มาเป็นร้อยปี มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัย ทำไร่ทำสวน แม้ไม่มีหนังสือสำคัญหรือโฉนดสวน ก็เป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยได้มาเป็นที่บ้านหรือที่สวน ตามกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นกฏหมายเก่าสมัยรัชกาลที่ ๑ จุลศักราช ๑๑๖๖ ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ บทที่ ๔๒ และบทที่ ๔๓
“๔๒ มาตราหนึ่ง ถ้าที่นอกเมืองหลวงอันเปนแว่นแคว้นกรุงศรีอยุทธยา ใช่ที่ราษฎร อย่าให้ซื้อขายแก่กัน อย่าละไว้ให้เปนทำเนเปล่า แลให้นายบ้านนายอำเพอร้อยแขวงแลนายอากอรจัดคนเข้าอยู่ในที่นั้น
อนึ่งที่นอกเมืองทำรุดอยู่นานก็ดี แลมันผู้หนึ่งล้อมเอที่นั้นเปน ไร่/สวน มันๆได้ปลูกต้นไม้สรรพอะยะมานีในที่นั้นไว้ ให้ลดอากอรไว้แก่มันปีหนึ่ง พ้นกว่านั้นเปนอากอรหลวงแล
๔๓ มาตราหนึ่ง หัวป่าแลที่มีเของสืบส้าง แลผู้นั้นตาย ได้แก่ลูกหลาน ถ้าแลผู้ใดไปแผ้วถางเอาเอง ท่านว่าคนผู้นั้นบังอาจ์ ให้ไหมลาหนึ่ง เปน สีนไหม/พิไนย กึ่ง คืนที่นั้นให้แก่พี่น้องลูกหลานมัน” ที่บ้านที่สวนนี้ต้องมีมานานก่อนประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๗๐/๒๕๐๐ และ ๒๘๖/๒๕๑๖ ยืนยันถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายที่ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น เมื่อกะเหรี่ยงอยู่ทำกินมานานเป็นร้อยปีก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ ๔๒ และบทที่ ๔๓ เป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจประกาศเป็นป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ ที่ให้อำนาจเฉพาะที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

พระบรมราโชวาท
กระแสพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันพุธที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๖
“......กฏหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฏหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชน ก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงกันข้าม กฏหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ
บางทีเราตั้งกฏหมายขึ้นมาก็ด้วยวิชาการซึ่งได้จากต่างประเทศ เพราะว่าวิชาการกฏหมายนี้ก็เป็นวิชาการที่กว้างขวาง จึงต้องมีอะไรทำอย่างหนึ่ง แต่วิชาการนั้นอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือท้องที่ของเรา บางทีเคยยกตัวอย่างมาเกี่ยวข้องกับที่ดิน เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเราเอากฏหมายไปบังคับประชาชนเหล่านั้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นความผิดของตนเอง เพราะการปกครองไม่ถึงประชาชนที่อยู่ในที่ห่างไกล จึงไม่สามารถทราบถึงกฏหมาย ความบกพร่องก็อยู่ที่ทางฝ่ายที่บังคับกฏหมายมากกว่าฝ่ายที่จะถูกบังคับ ข้อนี้ควรจะถือป็นหลักเหมือนกัน
ฉะนั้นจะต้องหาวิธีที่จะปฏิบัติกฏหมายให้ถูกต้องตามหลักธรรมชาติ......”
“.......ในป่าสงวนซึ่งทางราชการได้ขีดเส้นไว้ว่าเป็นป่าสงวนหรือป่าจำแนก แต่ว่าเราขีดเส้นไว้ประชาชนก็มีอยู่ในนั้นแล้ว เราจะเอากฏหมายป่าสงวนไปบังคับคนที่อยู่ในป่าที่ยังไม่ได้สงวนแล้วเพิ่งไปสงวนทีหลังโดยขีดเส้นบนเศษกระดาษก็ดูชอบกลอยู่ แต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่เมื่อขีดเส้นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในนั้นก็กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนกฏหมายไป
ถ้าดูในทางกฏหมาย เขาก็ฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฏหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติ ใครเป็นผู้ทำผิดกฏหมายก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่ก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์

ข้อมูลจาก
http://www.facebook.com/ฤๅจะสูญสิ้นชนเผ่าพื้นเมือง

1 Comments:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ควรให้ความเป็นธรรม แก่ชนเผ่าเมือง อย่าให้กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความความสงบสูข กลายเป็นเครื่องมือ สร้างความเดือดร้อน แก่ประชาชนเอง

แสดงความคิดเห็น