Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

เสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากพี่น้องม้งภูทับเบิก

“ขอ ตือ มั่ว ฮื่อ สิ ขอเต๋อ เหลี่ย หลี่” (Qhov twg muaj hwj tshim qhov natawv liam tsim) ภาษิตม้งบทหนึ่งที่จำได้แม่นขึ้นใจมาทุกวันนี้ คือ “ที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นมีความหายนะ” ชาวบ้านม้งคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ชีวิตของคนเผ่าม้ง ไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจ นำอำนาจมาใช้ในทางที่ผิด เมื่อใดอำนาจถูกใช้ในทางที่ผิด ความหายนะก็จะเกิดขึ้นทันที” ภาษิตบทนี้ทำให้คิดถึงบางเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ บ้านทับเบิก หมู่ที่ 14และ 16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ขึ้นมาทันที

บ้านทับเบิกเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนภูสูง อยู่เลยจากยอดภูทับเบิกสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.เพชรบูรณ์ ไปอีก 5กม. คนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดกว่า 600 ครัวเรือนเป็นชนเผ่าม้ง อาชีพหลัก คือ ปลูกกะหล่ำปลี ที่นี่เป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กะหล่ำปลีที่คนเมืองกินทุกวันนี้หรือที่วางขายกันตามท้องตลาดมาจากบ้านทับเบิกกว่า 80 %

 คนม้งบางส่วนของหมู่บ้านประมาณ 30 %นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 จึงทำให้มีการตั้งคริสตจักรทับเบิกขึ้นมาอย่างถูกต้องตามธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2543เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เหมือนกับการตั้งวัดของคนไทยในศาสนาพุทธ โดยมีนายพรชัย บัญชาสวรรค์ เป็นศิษยาภิบาล (ครูสอนศาสนา) พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 38 จ.เพชรบูรณ์ (หรือในชื่อเดิมคือศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา) สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่อง Unseen Thailandที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546ภูทับเบิกจึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ดังกล่าว หากใครได้เห็นบรรยากาศชุ่มฟ้าฉ่ำฝน เมื่อฟ้าหลังฝนเต็มไปด้วยเมฆหมอกฝนขาวโพลนลอยอ้อยอิ่งให้ได้สัมผัส จับ สูดดม ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้เขียวขจี หรือในทุกๆเหมันตฤดู ชื่อของ “ภูทับเบิก” ถูกนำเสนอด้วยสโลแกนเก๋ๆว่า “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวที่ภูทับเบิกจนที่พักไม่เพียงพอ

ชาวบ้านม้งคนหนึ่งเล่าว่า “อย่าว่าแต่ที่จะกางเต็นท์เลย ที่จอดรถยังแทบไม่มี รถติดกันเป็นแถวยาว ไปไหนไม่ได้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่นี่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ตั้งแต่วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันปีใหม่” จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่ลุกขึ้นมาหาทางจัดการ มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น "วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก" เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ ดูแลการท่องเที่ยวบนภูทับเบิก ตลอดจนมีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในที่ดินทำกินของแต่ละคนมากขึ้นเป็นลำดับ เช่นเดียวกับคริสตจักรทับเบิกก็ได้มีแนวคิดพัฒนาพื้นที่ของคริสตจักร โดยการก่อสร้างอาคารคอนกรีตถาวรเป็นสถานคริสเตียนศึกษาภูสวรรค์ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2552เพื่อใช้ในการฝึกอบรมด้านความรู้ต่างๆแก่สมาชิกคริสตจักรที่อยู่ในหมู่บ้านทับเบิก ตลอดจนให้บริการด้านที่พักแก่บุคคลทั่วไปรวมไปถึงนักท่องเที่ยวตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 และ 5มกราคม พ.ศ.2554 ทางศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 38 โดยนายสมคิด เตชะพะโลกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฯได้มีหนังสือแจ้งมายังคริสตจักรถึงนายพรชัย บัญชาสวรรค์ ให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว นี้ไม่นับว่านายพรชัยยังได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรหล่มเก่า ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2554 และ 13 มิถุนายน พ.ศ.2554 ตามลำดับ เนื่องจากศูนย์พัฒนาสังคมฯ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหา “เข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงก่นสร้าง หรือเผาป่า ที่ดินของรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต และก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต”


นายพรชัย บัญชาสวรรค์ ในฐานะเจ้าทุกข์ เล่าให้ฟังว่า “แม้ว่าที่ดินแห่งนี้จะอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสังคมที่ 38แต่คริสตจักรทับเบิกก็ได้ซื้อที่ดินจำนวน 3 ไร่เศษมาโดยถูกกฎหมายจากนายไพโรจน์ สุวรรณศรี เมื่อปี 2549เป็นเงิน 120,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในพันธกิจของคริสตจักรในอนาคต คริสตจักรจึงไม่ใช่ผู้เข้าไปบุกรุกตามข้อกล่าวหาแต่ประการใด เพราะคริสตจักรมีสิทธิในที่ดินอยู่ก่อนแล้วต่อมาในปี 2552คริสตจักรจึงได้สร้างอาคารแห่งนี้ขึ้นมา รวมทั้งเมื่อคริสตจักรได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากศูนย์พัฒนาสังคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอหล่มเก่า และถึงศูนย์พัฒนาสังคมฯ เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2553 และ 5 มกราคม 2554 ตามลำดับ เพื่อหารือถึงทางออก แนวทางการผ่อนปรนเนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว และพร้อมปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับการแจ้งใดๆจากศูนย์พัฒนาสังคม สุดท้ายก็มีหมายเรียกมาในที่สุด”

นายยงยุทธ สืบทายาท ผู้อำนวยการสมาคมม้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจยิ่งขึ้นว่า “ที่ผ่านมาในท้องถิ่นแห่งนี้ การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใดก็ไม่เคยมีการขออนุญาตกับหน่วยงานราชการมาก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิและมีการครอบครองทำกินและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาการฟ้องร้องใดๆเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อคริสตจักรเริ่มต้นก่อสร้าง คริสตจักรได้ไปปรึกษากับองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาลว่าจะต้องขออนุญาตดำเนินการอย่างไร แต่ทาง อบต.แจ้งว่าพื้นที่ก่อสร้างไม่อยู่ในอำนาจของ อบต.จึงไม่มีการออกใบอนุญาตใดๆ คริสตจักรจึงดำเนินการก่อสร้างไป โดยเข้าใจว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างเหมือนกับการก่อสร้างที่ผ่านมา”

ตามประวัติดั้งเดิมแล้วพื้นที่แห่งนี้มีชาวม้งจำนวนมากได้เข้ามาบุกเบิกและจับจองที่ทำกินมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2465 ต่อมาเมื่อวันที่ 3มิถุนายน พ.ศ.2502คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้งเขตนิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาในประเทศไทยขึ้น 4 แห่ง หนึ่งในจำนวนนั้น คือ นิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาภูลมโล เขตติดต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย รวมเนื้อที่มากกว่าสองแสนไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมชาวเขาที่อยู่กระจัดกระจายซึ่งยากแก่การพัฒนาและสงเคราะห์ได้อย่างทั่วถึง ให้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง และประกอบอาชีพเป็นการถาวรในเขต “ นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา” ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน ด้านการศึกษา การอนามัย ด้านการสังคมสงเคราะห์ ด้านการจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2509 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมอบพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และเริ่มมีหน่วยงานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเข้ามาในพื้นที่
ปี พ.ศ. 2511– 2526 มีการสู้รบในพื้นที่ระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาวม้งในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย
ปี พ.ศ. 2527– ปัจจุบัน ภายหลังจากที่มีการประกาศนโยบาย 66/2523บ้านทับเบิกจึงได้กลับคืนสู่สภาพหมู่บ้านปกติ และชาวม้งที่นี่ก็คงอยู่และทำกินในพื้นตลอดมา

ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาถึงแม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีหรือประกาศของทางราชการเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งชาวม้งอาศัยและทำกินอยู่ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านี้แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบและปฏิบัติตาม การก่อสร้างใดๆจึงไม่เคยมีการขออนุญาตมาก่อน หรือการใช้ประโยชน์ในที่ดินก็ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดว่าต้องเฉพาะเกษตรกรรมเท่านั้น ชาวม้งในพื้นที่จึงไม่เคยขออนุญาตเรื่องการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆในที่ดินของตนเอง ประกอบกับการได้มาซึ่งสิทธิการทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินเหล่านี้ก็เป็นไปโดยชอบธรรมและสืบสิทธิในที่ดินต่อจากผู้มีสิทธิคนก่อนๆ

เช่นเดียวกับกรณีคริสตจักรทับเบิกที่ซื้อที่ดินมาจากการซื้อต่อจากผู้มีสิทธิเดิม ที่ดินดังกล่าวได้ทำกินและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว จึงมิใช่เป็นการบุกรุกแผ้วถางหรือไปจับจองที่ดินของรัฐในภายหลังแต่ประการใด การครอบครองที่ดิน การพัฒนาที่ดิน ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคริสตจักรจึงเป็นสิ่งอันชอบธรรม มิใช่เป็นไปตามข้อกล่าวหาของศูนย์พัฒนาสังคมที่ 38

จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อทางออกมีไม่มากนัก ทำให้เมื่อวันที่ 19กรกฎาคม พ.ศ.2554
พี่น้องม้งจากบ้านทับเบิก กว่า 100คน จึงเดินทางลงจากภูทับเบิกมุ่งหน้าไปยังที่ว่าการอำเภอหล่มเก่ากว่า 40กิโลเมตร เพื่อส่งเสียงขอความเป็นธรรมต่อนายชาติชาย เพชระบูรณิน นายอำเภอหล่มเก่า โดยขอให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องนายพรชัย บัญชาสวรรค์ จนในที่สุดนายอำเภอได้มอบให้ศูนย์ดำรงธรรมเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย และเสนอให้ “ศูนย์พัฒนาสังคมที่ 38 พิจารณาให้คริสตจักรทับเบิกดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะทำเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาวทับเบิก มิได้มุ่งหาผลประโยชน์แต่อย่างใด”

แม้ว่าฉันจะฟังภาษาม้งที่พี่น้องม้งกำลังสื่อสารกันอยู่ไม่ออกแม้แต่ประโยคเดียว แต่ด้วยแววตาความมุ่งมั่นที่มุ่งหวังว่า “ปัญหา” ที่พวกเขาเผชิญย่อมมีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายแน่นอนการถอนฟ้องหรือไม่ถอนฟ้องอาจเป็นเพียงปลายทางของปัญหา

ข้อถกเถียงที่สำคัญน่าจะอยู่ตรงที่การแสวงหาทางออกร่วมกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คิด เสนอ และถกเถียงเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ว่าควรทำอะไรและอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถทำให้เกิดการวางแผนและจัดการการใช้ประโยชน์จากที่ดินบ้านทับเบิกได้ต่อไปที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย อยู่บนพื้นฐานของความต้องการและความยินยอมพร้อมใจของประชาชนในพื้นที่ แผนอนุรักษ์หรือแผนพัฒนาพื้นที่ใดก็ตามก็ควรจะต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ เป็นแผนที่ถูกวางขึ้นโดยคำนึงถึงคนชั้นล่าง คนชายขอบของพื้นที่ว่าพวกเขาและเธอจะมีที่อยู่ที่ยืนอย่างไรต่อไปในการพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มพี่น้องม้งที่เป็นกำลังการผลิตสำคัญในที่ดินแห่งนี้

อย่าให้การพัฒนากลายเป็นเพียงเรื่องเชิงนโยบายที่ “แคบ” และ “สั้น” การสร้าง “สังคมมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ตามภารกิจหลักของศูนย์พัฒนาสังคมที่ 38ที่กำหนดไว้โดยตรง นี้คือสิ่งสำคัญกว่ายิ่งนัก

ที่มา thaingo.org

1 Comments:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ปัจจุบันปัญหาปานปลายไปกันใหญ่แล้ว ไม่เฉพาะแต่ที่ภูทับเบิก ยังรวมพื้นที่บ้านห้วยน้ำขาว ของตำบลเข็กน้อยด้วย เพราะหน่วยงานนิคมสร้างตนเองซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ได้ยกที่ดินให้กรมป่าไม้ โดยไม่ได้สอบถามความเห็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เลย ปัจจุบันป่าไม้ได้เข้าไปปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว และแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านหลาย 10 คนที่ได้สร้างที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดูแลบริหารจัดการอย่างเป็นธรรม

แสดงความคิดเห็น