Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ชี้อนาคตภาษากะเหรี่ยงสูญหาย เหตุระบบการศึกษาทอดทิ้งหลักสูตรท้องถิ่น

ชี้อนาคตภาษากะเหรี่ยงสูญหาย เหตุระบบการศึกษาทอดทิ้งหลักสูตรท้องถิ่น ตัดขาดรากเหง้าทางวัฒนธรรม จี้ ศธ.ระงับแผนยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 5 พันแห่ง หวั่นกระทบวิถีชีวิตชาวไทยภูเขาล่มสลาย ยกไร่หมุนเวียนขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อติดตามและประสานงานการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูชีวิตกะเหรี่ยง โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ และประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553


 ในฐานะที่ตนเป็นกรรมการชุดนี้ ได้เสนอเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขคือ การฟื้นฟูรากเหง้าทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและภาษาชนเผ่ากะเหรี่ยง (ปกากะญอ) รวมทั้งชาวไทยภูเขาชนเผ่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาษาพื้นถิ่นมีความเปราะบางและเสี่ยงที่จะสูญหายภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบันตัดขาดรากเหง้าทางวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา เด็กไม่ได้เรียนภาษาพื้นถิ่นในโรงเรียนรัฐ ชุมชนต้องจัดศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นขึ้นเอง แต่ก็มีปัญหาด้านงบประมาณและบุคลากร ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

นางเตือนใจ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีแผนที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศจำนวน 5,000 แห่ง ซึ่งตนเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา คาดว่าจะมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ทุรกันดารทางภาคเหนือไม่น้อยกว่า 2,600 แห่งถูกยกเลิก ทำให้พ่อแม่และเด็กชาวไทยภูเขาต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เช่น เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น ครอบครัวมีเวลาพูดคุยกันน้อยลง ทำให้มีโอกาสสูงที่ภาษากะเหรี่ยงและชนเผ่าต่าง ๆ จะสูญหายไปในอนาคตอันใกล้นี้

         "โรงเรียนขนาดเล็ก ๆ มีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขา ไม่ควรที่จะยกเลิกแล้วหันไปสร้างโรงเรียนใหญ่ ๆ ซึ่งจะเพิ่มภาระนักเรียนและพ่อแม่ให้มีชีวิตยากลำบากมากขึ้น ดิฉันจึงเสนอคณะกรรมการฯ ฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงว่าไม่ควรยุบโรงเรียนขนาดเล็ก หากจำเป็นจะต้องทำจริง ๆ ก็ควรพิจารณาความจำเป็นแต่ละโรงเรียน ถ้ารัฐบาลเร่งยุบโรงเรียนขนาดเล็กก็จะยิ่งทำให้วิถีชีวิตชาวไทยภูเขาล่มสลายเร็วมากยิ่งขึ้น" นางเตือนใจกล่าว และว่า ควรจะให้เด็กชาวเขาที่เรียนจบแล้วได้รับการบรรจุเป็นครูสอนภาษากะเหรี่ยงเพื่อสืบทอดภาษาท้องถิ่นให้คงอยู่ ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาได้รับการอนุรักษ์ด้วย

นอกจากการแก้ไขปัญหาการศึกษาของกลุ่มชาวไทยภูเขาแล้ว ในที่ประชุมยังพิจารณาสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ด้านที่ดินทำกิน โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ศึกษาเขตวัฒนธรรมพิเศษเช่นเดียวกับชาวเลอันดามัน และจะนำผลการศึกษาเรื่องไร่หมุนเวียนไปผลักดันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และด้านสัญชาติไทยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบที่จะเร่งออกบัตรประชาชนแก่ชาวไทยภูเขา

"การผลักดันนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงให้สำเร็จเป็นรูปธรรม หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานอย่างบูรณาการ ที่ผ่านมายังไม่มีการเดินหน้าไปสู่การปฏิบัติ และเพิ่งจะเริ่มประชุมกันเมื่อเร็ว ๆ นี้" นางเตือนใจกล่าว

ด้านนายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ. กล่าวถึงปัญหาชาวไทยภูเขาว่า ศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นมีปัญหาไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณรายหัว ขาดแคลนครูผู้สอนและอุปกรณ์การเรียนการสอน เนื่องจากไม่ได้สังกัดหน่วยงานใดของรัฐ 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เพื่อรักษาวัฒนธรรม ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด นอกจากนี้ยังมีวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นหลายเรื่องที่ส่อว่าจะสูญหาย เพราะเด็กไม่ได้เรียนรู้และสืบทอดอย่างจริงจัง ตนเห็นว่าการประเมินสูตรท้องถิ่นของชาวไทยภูเขาควรมีรูปแบบพิเศษเช่นเดียวกับโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

"ผมเห็นว่าควรโอนศูนย์การเรียนรู้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล ซึ่งจะต้องมีการศึกษาความเหมาะสม พร้อมทั้งจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปศึกษาหาแนวทางแก้ไข รวมถึงนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป" นายสมชายกล่าว

ที่มา kapook.com

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น