Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

พันแสงรุ้ง ตอน ดนตรีชาติพันธุ์



"สาย รุ้งไม่ได้มีเพียงแค่ 7 สีที่ตาเห็นเท่านั้น แต่ยังมีสีสันที่เหลื่อมซ้อนกันมากมาย เหมือนความหลากหลายทางวัฒน ธรรม และวิถีชีวิตของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีความหมายมากมายกว่าที่ตาเห็นให้เรียนรู้"

คำอรรถาธิบายความหมาย และที่มาของชื่อรายการ "พันแสงรุ้ง" ของ นก นิรมล เมธีสุวกุล แห่งป่าใหญ่ ครีเอชั่น เมื่อครั้งงานแถลงข่าวเปิดตัวรายการเมื่อ 1 ปีก่อน

บ่งบอก ถึงแนวทางความคิดในการผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อถ่ายทอดความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ที่หลากหลายและงดงาม ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่กระจายกันอาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคบนผืนแผ่นดินไทย

"พันแสง รุ้ง" เดินทางมาเป็นเวลา 1 ปี กับการถ่ายทอดสีสันอันงดงามของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่นอกเหนือการมองเห็น ความรับรู้และเข้าใจของคนทั่วไป

ท่าม กลางเสียงตอบรับของผู้ชมทั่วประเทศ ที่ต่างจับจ้องเฝ้ารอชมอยู่หน้าเครื่องรับโทรทัศน์ ในช่วงเวลาสี่โมงครึ่ง ทุกบ่ายวันอาทิตย์ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ทีวีไทย

ในวาระครบรอบขวบปี "พันแสงรุ้ง" ถือโอกาสเปิดอีกหนึ่งสีสันในสายเส้นรุ้ง ที่เป็นเอกลักษณ์และแสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการจัดคอนเสิร์ต "พันแสงรุ้ง : ดนตรีชาติพันธุ์" ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 28 มี.ค.นี้

คอนเสิร์ต ครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชุมชนคนรักป่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ทีวีไทย และป่าใหญ่ครีเอชั่น

เพื่อเปิดโอกาส ให้สังคมส่วนใหญ่รับรู้ถึงหนึ่งในอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ของบรรดาชาติพันธุ์บนผืนดินไทย และจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ สตูดิโอป่าใหญ่ครีเอชั่น ถนนเกษตรนว มินทร์ โดยมี "ชิ"สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินเตหน่า เชื้อสายปกาเกอญอ หรือกะเหรี่ยง แห่งมูเสคี ป่าสนวัดจันทร์ อ.วัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ อาจารย์โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นก นิรมล ร่วมกันแถลงข่าวในวันนั้น


ผู้ที่โดดเด่นที่สุดในงานแถลง ข่าววันนั้นคงเป็นใครไม่ได้นอก จาก "ชิ"สุวิชาน เจ้าของสมญานาม "พี่เบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์) ของคนกะเหรี่ยง" เพราะเขามาร่วมแถลงข่าวในนามตัวแทนของมิตรต่างชาติพันธุ์ที่จะเข้าร่วมการ แสดงในวันงาน ที่ประกอบด้วย ปกาเกอญอ, ดาระอั้ง, ม้ง และลัวะ


เขา เล่าว่า ชาวชนเผ่าจะมีเรื่องเล่าและนิทานมากมาย โดยเฉพาะชาวปกาเกอญอ ที่มีเรื่องเล่ามากกว่าใบไม้ในป่า พร้อมกล่าวอย่างถ่อมตัวว่า เขามีความรู้ของชาวปกาเกอญอ แค่ต้นไม้ใบบางๆ เพียงต้นเดียวเท่านั้น

การ ที่ชาวชนเผ่ามีเรื่องเล่ามากมาย และส่วนใหญ่จะใช้การขับกล่อมหรือการร้องเพลงเป็นการเล่าเรื่องเหล่านั้น ทำให้ชาวชนเผ่ามีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตั้งแต่เกิดจนตาย

"ชิ" ยังเล่าเรื่องของยายให้ฟังว่า เป็นคนที่มีความพิเศษในการเล่าเรื่องผ่านการร้องเพลง โดยไม่มีดนตรีประกอบ ใช้วิธีออกเสียงสูงต่ำ เพื่อเรียกความสนใจของเด็กๆ

ยายยังบอกเขา อีกว่า ชุมชนไหนหากมีเครื่องดนตรีแต่ไม่มีคนเล่น มีบทเพลงแต่ไม่มีคนร้อง มีบ้านแต่ไม่มีคนอยู่ ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นชุมชนได้ ดังนั้น เพลงจึงเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวชนเผ่า

"แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ความภาคภูมิใจแห่งชาติพันธุ์ขาดหายไปไม่มีการสืบทอด จากการเข้ามาของกลุ่มมิชชันนารี ไม่ได้หมายความเฉพาะศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่รวมถึงพุทธศาสนาด้วย ยิ่งกว่านั้นการเข้ามาของหน่วยราชการทำให้มีการพัฒนาความเป็นรัฐชาติ ไม่มีการพูดถึงเรื่องดนตรีชนเผ่า หากมีการร้องรำถือว่าผิดกฎ ร้องเพลงชาติไทยเป็นภาษากะเหรี่ยงไม่ได้ ทำให้ความเป็นตัวตนของชนเผ่าหายไป"

ช่วง เวลาที่เป็นเช่นนั้น "ชิ" อธิบายความรู้สึกว่า เวลาที่ถูกใครถามว่าเป็นใครจะรู้สึกสับสนมาก ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไทยหรือชนเผ่า เพราะเรื่องของไทยก็เข้าใจไม่หมด เรื่องของชนเผ่าก็รู้ไม่ตลอด

"ความรู้สึกนั้นทำให้ไม่มีความมั่นคง และความปลอดภัยในศักดิ์ศรีว่าเป็นคนไทย หรือเป็นชนเผ่ากันแน่ ทำให้ไม่มีพื้นที่ยืนในสังคม แต่เมื่อเริ่มมีการให้ความสำคัญเรื่องชนเผ่า เริ่มมีการสืบทอดทางวัฒนธรรมชนเผ่า เหมือนเป็นการเรียกศักดิ์ศรีกลับคืนมา และการแสดงดนตรีชาติพันธุ์ ในวันที่ 28 มี.ค. จะเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองการกลับมาของศักดิ์ศรีชนเผ่าทุกชาติพันธุ์"

สุด ท้าย "ชิ" บอกว่า แม้การแสดงในวันนั้นจะมีเพียงไม่กี่ชนเผ่า แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะทุกกลุ่มต่างมีสีและแสงของตัวเอง และเป็นแสงสีที่มาอยู่ร่วมกันประกอบเป็นรุ้งสายเดียวกัน


อาจารย์ โคทม กล่าวว่า ช่วงที่เป็น กกต. ได้เดินทางไปทั่วประเทศ แต่ไม่ว่าไปที่ไหนจะเห็นแต่วัฒนธรรมที่เป็นของภาคกลาง ภาษากลาง ไม่เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อกลับลงไปอีกครั้งเริ่มเห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ในความเป็นชาวมลายู


ส่วน จุดอื่นในประเทศ มีผู้ที่ใช้ภาษาเขมร ภาษามอญ เป็นภาษาถิ่นอีกมากมาย ทำให้เริ่มรู้สึกว่าในประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านวัฒนธรรมและกลุ่ม ชาติพันธุ์

จากนั้นจึงเริ่มตั้งศูนย์จินตนาการใหม่ความเป็นไทย ได้เข้าไปคุยกับสถาบันการศึกษา สถาบันสิรินธร สถาบันภาษามหิดล สกว. และอีกหลายแห่ง เพื่ออยากให้คนทั่วไปรู้ว่า ไทยมีหลากชาติพันธุ์ หลายภาษาและวัฒนธรรม

แต่ทุกที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่าศึกษาอีกเลย เพราะเอกสารที่ศึกษาเรื่องเหล่านั้น มีเป็นตั้งเต็มไปหมด แต่ควรหาวิธีที่จะสื่อสารงานวิจัยเหล่านั้นออกไปสู่ประชาชน กระทั่งเกิดเป็นรายการ "พันแสงรุ้ง" ขึ้นมาในที่สุด

ครั้งแรกที่ เริ่มงานตั้งใจว่าจะใช้ภาษาเป็นตัวนำ แต่เมื่อศึกษาไปมากเข้า พบว่าความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีอย่างอื่นอีกมาก ทั้งสิ่งก่อสร้าง เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย ที่สำคัญ คือ ภาษาดนตรี

"แม้ ผมจะไม่ใช่คนที่เชี่ยวชาญเรื่องดนตรี แต่มีบางครั้งที่เมื่อได้ ยินเสียงเพลงเหล่านั้นแล้ว รู้สึกคุ้นเคย และเมื่อนำไปร้องร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ความรู้สึกว่า เราคือคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน ธรรมชาติเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน แต่ในใจยังเกิดความสงสัยว่า ทำไมบรรดาศูนย์วัฒนธรรม หอศิลป์ต่างๆ มีสักกี่ครั้ง ที่จะเปิดพื้นที่ให้ดนตรีที่ไม่ใช่ดนตรีมาตรฐาน เพราะเมื่อไหร่ที่พูด ถึงดนตรีสี่ภาค มักเป็นการมองภาพจากส่วนกลางทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต้องเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมอีกมาก ไม่เฉพาะเรื่องภาษาเท่านั้น"

การ จัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ อาจารย์โคทมบอกว่า จุดเริ่มต้นมาจากความต้องการให้มีพื้นที่ในการแสดงออกของกลุ่มชาติพันธุ์มาก ขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเรามองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จากส่วนกลางมากเกินไป สาเหตุมาจากเรายังไม่มีความซาบซึ้งกับสิ่งเหล่านั้นมากพอ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นเป็นทรัพย์สมบัติทางวัฒนธรรมของจริง เป็นวิถีชีวิตที่แท้จริง

หากเราไม่ยอมเปิดพื้นที่ในการแสดงออกของ กลุ่มชาติพันธุ์ คนเหล่านั้นที่มีความอึดอัดในเรื่องดังกล่าว จะยังคงความอึดอัดต่อไป ส่วนพวกส่วนกลางที่ไม่เคยรู้อะไรมากเกี่ยวกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ จะมองแต่เพียงสิ่งที่เดิมๆ ที่เคยชิน มองว่าสิ่งที่เราเข้าใจคือความถูกต้อง มองแบบแคบๆ ผิวเผิน

นก นิรมล เล่าว่า จุดเริ่มต้นนอกจากเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 1 ปี "พันแสงรุ้ง" แล้ว สิ่งที่ทำให้อยากจัด "ดนตรีชาติพันธุ์" เกิดจากการที่ได้ไปถ่ายทำวิถีความเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วพบว่า ดนตรีของเขามีความหลากหลายและงดงาม ที่สำคัญคือ การรับรู้ของคนทั่วไปยังมีไม่มากพอ

"เป็นดนตรีที่อยู่นอกกระแส ไม่มีการโปรโมต ไม่อยู่ค่ายใดทั้งสิ้น ทำให้รู้สึกว่าอยากจะให้มีพื้นที่สำหรับดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ไม่ถูกพูดถึงให้เป็นที่รู้จัก และคอนเซ็ปต์ของรายการคือความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ละชนเผ่าเขาจะมีเครื่องดนตรี ลีลาการร้อง และความเชื่อของเขา เราจะให้เขามาเล่าให้ฟังในคอนเสิร์ตครั้งนี้ และหลังจากครั้งแรกผ่านไปแล้ว พี่คิดว่าคงต้องมีการจัดต่ออีกหลายครั้ง เพื่อให้มีกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีเพียง ม้ง ปกาเกอ ญอ ดาระอั้ง ลัวะ"

พี่นกบอกว่าในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ ชาวชนเผ่าจะนำเครื่องดนตรีโบราณมากมายมาแสดง บางชนิดเป็นเครื่องดนตรีดึกดำบรรพ์มาก เพียงนำไม้ไผ่หั่นเป็นปล้อง ก็กลายเป็นเครื่องดนตรีได้

ดังนั้น ผู้ที่เข้าชมคอนเสิร์ตครั้งนี้ จะได้เห็นเครื่องดนตรีดั้งเดิม ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่แทบไม่ได้ปรับปรุงหรือปรุงแต่งอะไรเลย จนถึงการพัฒนาไปร้องเล่นร่วมกับวงดนตรีสากลร่วมสมัย

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่นำมาเล่าหรือแสดงไม่ได้ เช่น ดนตรีในพิธีกรรมต่างๆ จะใช้วิธีฉายขึ้นจอภาพเป็นการเชื่อมโยงวิถีชนเผ่าเหล่านั้น ให้ทุกคนได้รับรู้

ก่อนถึงวันแสดงคอนเสิร์ต "พันแสงรุ้ง : ดนตรีชาติพันธุ์" ณ หอแสดงดนตรี อาคารภูมิพลสังคีต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะมีการจัดนิทรรศการ "ภาษาดนตรีชาติพันธุ์" จัดแสดงให้ชมฟรี ที่ห้องนิทรรศการ อาคารภูมิพลสังคีต ระหว่างวันที่ 25-28 ก.พ.

และในวันแสดงมีการเสวนา ในหัวข้อ "ดนตรีสันติวัฒนธรรม" ที่ร้าน Music Square วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในเวลา 14.00-15.30 น. และคอนเสิร์ตเริ่มแสดงตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น.

ผู้สนใจซื้อบัตรได้ที่ บริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด โทร.0-2570-1120-3, 08-9922-9877 และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหา วิทยาลัยมหิดล 0-2849-6072-5

บัตรราคา 300, 500, และบัตรวีไอพี ผู้สนับสนุนการจัดงาน นักเรียน-นักศึกษา ราคา 100 บาท

จำกัดเพียง 350 ที่นั่งเท่านั้น สำหรับคอนเสิร์ตเปิดพื้นที่เพื่อดนตรีชนเผ่า

มรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยต่างชาติพันธุ์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในความหลากหลายของสายรุ้งเส้นงาม

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น