Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯแสดงพลังชุมชนพร้อมจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า

เชียงใหม่/เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ตอบสนองนโยบายรัฐ “โฉนดชุมชน” ประกาศวาระพี่น้องชนเผ่าฯจัดการทรัพยากรชุมชนโดยพลังของชุมชนบนพื้นที่สูง


ระหว่างวันที่ ๗-๙ สิงหาคม ๒๕๕๒ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูวิธีการจัดการทรัพยากร โดยชุมชน ประจำปี ๒๕๕๒ ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตความหลากหลายทาง วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง และสร้างความมั่นคงในการจัดการที่ดิน น้ำ ป่า ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กร ชุมชน (พอช.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรภาคี

สำหรับกิจกรรมในงานมหกรรมชนเผ่าฯใน ๒ วันแรกนั้นประกอบด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการจัดการที่ดินโดย ชุมชนเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูงในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” การแสดงนิทรรศการ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง โดยปิดท้ายมหกรรมชนเผ่าฯวันสุดท้ายด้วยการเดินรณรงค์จากวัดสวนดอกถึง ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เพื่อแสดงตัวตน เผยแพร่ความรู้ในการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนบนพื้นที่สูง และร่วมรายการเวทีสาธารณะของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ในหัวข้อ “ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยกับการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่า”

นายจอนิ โอ่โดเชาประธานคณะกรรมการจัดงานฯ เผยว่า มหกรรมชนเผ่าฯในปีนี้เน้นที่การสร้างเวทีพูดคุยในเรื่องโฉนดชุมชนบนพื้นที่ สูง เนื่องจากพื้นที่ของชุมชนที่สูงไม่มีกฎหมายรองรับ ผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ซึ่งชุมชนบนพื้นที่สูง ได้เรียกร้องเรื่องของการรับรองสิทธิที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในรูปแบบ โฉนดชุมชนโดยตลอด อย่างไรก็ตามพี่น้องชนเผ่าจะต้องมีความเข้าใจเนื้อหาของโฉนดชุมชน ต้องมีการจัดการพื้นที่ของชุมชนให้ชัดเจน หรือนำเสนอองค์ความรู้ ความเชื่อในการจัดการทรัพยากรดังสุภาษิตของปกาเกอะญอที่ว่า “กินน้ำให้รักษาน้ำ กินป่าให้รักษาป่า” เพื่อให้นโยบายหรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้รับรองการจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)กล่าวว่า สิทธิชุมชนเป็นสิทธิที่ตราไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าคน 1.2 ล้านครอบครัวที่ไม่มีทำดินทำกิน ขณะที่คนรวยที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและนักการเมืองมีที่ดินมากกว่าคนจน 2.9 แสนเท่า ดังนั้นเห็นว่ากฎหมายทำให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน ปล่อยให้คนที่มีอำนาจและเงินมาครอบครอง

ส่วนทางออกนั้น นพ.นิรันดร์เห็นว่า ควรลดอคติทางชาตินิยม เช่น การมองว่าบางเชื้อชาติมีปัญหาด้านยาเสพติด เป็นคนอพยพ ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งล้วนแล้วเป็นทัศนคติด้านลบ เปลี่ยนเป็นการมองว่าเขาก็เป็นคนที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ส่วนพี่น้องชนเผ่าต้องเชื่อและภูมิใจในความเป็นชนพื้นเมือง ยึดมั่นในความเป็นอัตลักษณ์ และเปิดพื้นที่ให้สาธารณะรับรู้ ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์เชิงการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่คือการบ่งบอกตัวตน บอกสิ่งที่เราเป็นและทำอยู่ เช่น การทำไร่หมุนเวียนที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ดินน้ำป่า เป็นต้น

ด้านพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)กล่าวเสริมว่า โฉนดชุมชนต้องใช้การมีส่วนร่วมทุกกลุ่มทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชนและชุมชน โดยร่วมมือกันทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา สิ่งสำคัญของการที่จะมีโฉนดชุมชนนั้นต้องมีป่าและส่วนประกอบต่างๆ เช่น จัดทำแนวเขตป่าประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน มีแผนที่ชุมชนของบ้านนั้นๆ มีแผนที่รายแปลงของแต่ละครัวเรือน และกฎกติกาของชุมชน เช่น ระเบียบการจัดการรักษา การเปลี่ยนมือ ที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าตามเจตนาเพื่อรักษาทรัพยากรให้มี ความเข้มแข็งป่าก็จะอยู่ได้และคนก็อยู่ได้เช่นกัน.


ภาพโดย: ดวงมณี เครื่องร้อน
ธีรมล บัวงาม
ส่วนข้อมูลและประชาสัมพันธ์ พอช. ภาคเหนือ
รายงาน : ๙ สิงหาคม ๒๕๕๒

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น