เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.เชียงราย เครือข่ายเยาวชนอาข่าจาก จ.เชียงราย ลำปาง และเชียงใหม่กว่า 200 คน ภายใต้มูลนิธิกระจกเงา นำโดยนายปฏิภาณ อายิ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐยอมรับความแตกต่างหลากหลายและต้องส่งเสริม อัตลักษณ์ วัฒนธรรมชนเผ่า
นายปฏิภาณ กล่าวว่า การมาอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายเยาวชนอาข่าในครั้งนี้เป็นผลมาจากระหว่างวัน ที่ 21-22 ก.ค.ที่ผ่านมา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา จัดเวทีเสวนาเรื่อง “วัฒนธรรมชนเผ่าอาข่ากับการถูกละเมิดสิทธิ” ขึ้น ณ ห้องประชุมสุพรรณิการ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย โดยในการจัดเสวนาครั้งนี้มีการหารือและวิเคราะห์สถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิ ของชนเผ่าอาข่าขึ้น ซึ่งปัจจุบันกล่าวได้ว่าปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่ภาค รัฐมิได้ให้ความสำคัญในกระบวนการแก้ปัญหาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีการอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งระบุใจความว่า สถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อ สังคมการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม และการนำเสนอของสื่อต่างๆ เกี่ยวกับชนเผ่าอาข่าในประเทศไทยทำให้ มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นเหตุให้วัฒนธรรมของชาวอาข่าที่ออกสู่โลกภายนอกมีความผิดพลาด และไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้เกิดทัศนคติที่ผิดๆ การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดความเป็นชนเผ่าเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มที่หาผลประโยชน์ จากความเป็นคนชนเผ่า
เราในฐานะตัวแทนของเยาวชนชนเผ่าอาข่าซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมและรากฐาน อัตลักษณ์ และความเป็นคนไทย ขอยื่นแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อทำความเข้าใจและขอให้ท่านตระหนักถึงปัญหาของชน เผ่าอาข่า และสร้างความเท่าเทียมกันในทุกเผ่าพันธุ์ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมไทย และเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ดังนั้นปัญหาของชนเผ่าอาข่าที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ คือ
1.การเลือกปฏิบัติในสังคมระหว่างคนไทยทั่วไปกับคนชนเผ่า เช่น การเลือกปฏิบัติในการให้บริการรักษาพยาบาลตามสถานบริการของรัฐต่างๆ หรือการกดขี่แรงงาน โดยคนชนเผ่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างทั้งเรื่องค่าแรงน้อยกว่าค่าแรง ขั้นต่ำ และระยะเวลาการทำงานที่มากกว่าปกติ
2.นโยบายและการออกกฎหมายที่ไม่เข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ของหน่วยงานรัฐ ทำให้ภาพชนเผ่าอาข่าถูกมองว่าเป็นจำเลยของสังคม เช่น เรื่องการค้ายาเสพติด การกล่าวหาว่าคนอาข่าเป็นคนทำลายป่า การมองว่าคนอ่าข่าที่อยู่ตามชายแดนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
3.การละเมิดสิทธิในภูมิปัญญาท้องถิ่น ความคุ้มครองด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีกลุ่มคนในรูปแบบของสื่อต่างๆ ที่นำเสนอแบบผิดๆ และนำเรื่องวัฒนธรรมชนเผ่าไปเพื่อค้าขาย และแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว เช่น ภาพยนตร์หรือโฆษณา ที่ล้อเลียนการแต่งกาย ภาษาพูด วัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่า หรือจะเป็นในรูปแบบการนำภาพถ่ายหรือประเพณีของชนเผ่าออกมาขายโดยไม่ได้รับ อนุญาตจากบุคคลหรือชุมชน
4.รัฐต้องสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในสถานศึกษาเพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ถึงความวัฒนธรรมชนเผ่าในประเทศ ไทยอย่างถูกต้อง รวมทั้งสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นในสังคมของชนเผ่าเพื่อ ดำรงรักษาไว้ซึ่ง อัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนชนเผ่า
พวกเราเยาวชนอาข่าที่ร่วมกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยทุกคนไม่ว่า ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อใด ต้องได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและสันติในฐานะคนไทยที่อยู่ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทยทุกคน
อย่างไรก็ตาม การอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายเยาวชนอาข่าครั้งนี้มีนายยงรัตน์ มีสัตย์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรม จ.เชียงราย และนายประชุม หาญณรงค์ รองประธานสภาวัฒนธรรม จ.เชียงราย เป็นตัวแทนของจังหวัดมาพบ พร้อมกับแจงว่าจะนำข้อเสนอในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวไปรายงานต่อนายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น