Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง


     กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เข้ากรุง 29 มี.ค. ดันนโยบาย “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนเปิดเสรีอาเซียน เสนอตั้ง “คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ” เสนอเร่งประกาศพื้นที่นำร่อง “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ” ชุมชนชาวเล 8 พื้นที่ และ กะเหรี่ยง 4 พื้นที่

รายงานข่าวจากเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองแจ้งว่า ในวันที่ 29-30 มีนาคม 2555 นี้ สมาชิกเครือข่ายฯ นัดหมายกันมาร่วมงาน สมัชชา คนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อผลักดันนโยบาย “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ก่อนเปิดเสรีอาเซียน ณ. ข้างทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร 

เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางกำหนดนโยบายที่ชัดเจนต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยเห็นว่า โอกาสที่ประเทศไทยเตรียมการเปิดเสรีอาเซียนปี 2556 นั้น หากมองถึงมิติของเชื้อชาติแล้วประเทศในอาเซียนล้วนแต่มีความหลากหลายของเชื้อชาติของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั้งสิ้น

ข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ถึง 36 เผ่า มีภาษา อัตลักษณ์วัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่แตกต่างออกไปจากสังคมใหญ่ อาทิเช่น ทางภาคเหนือมี ปกากะญอ ขมุ มฺบีซู มลาบรี ม้ง เมี่ยน ลีซู ลาหู่ ลัวะ อาข่า ฯลฯ ภาคอีสานมี ชาวกูย ภูไท ญัฮฺกุร โส้ ฯลฯ ภาคกลางและตะวันออก มีชาวมอญ ไททรงดำ ชอง ฯลฯ และภาคใต้มี มอแกน มอแกลน อุรักละโว้ย มานิและมาลายู เป็นต้น รวมมีประชากรรวมกันมากกว่า 1,200,000 คน แต่ในจำนวนนี้เป็นผู้ไร้สัญชาติถึง 400,000 คน

   กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่มาเป็นเวลานาน บางกลุ่มมีอายุกว่า 500 ปี เป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็ก มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่เรียบง่าย ผูกพันกับธรรมชาติอย่างแนบแน่น ใช้ทรัพยากรแบบหาอยู่หากิน มีระบบขัดเกลาทางสังคมและบ่มเพาะจนกลับกลายเป็นอัตลักษณ์และแบบแผนการดำเนินชีวิตของแต่ละกลุ่ม ซึ่งสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง ดังเช่น การอาศัยหาอยู่หากินกับป่าของชนเผ่าบนที่สูงทางภาคเหนือ และการอาศัยหากินกับทะเลของกลุ่มชาวเล ทางภาคใต้ เป็นต้น

ในระยะที่ผ่านมาเรื่องราววัฒนธรรมและระบบคุณค่านั้น เริ่มอ่อนแอและลดความสำคัญลงไป อันเป็นผลพวงมาจากนโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุลของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งมุ่งการพัฒนาภายใต้ระบอบทุนนิยมเสรีที่เน้นวัดความสำเร็จที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จนละเลยและละเมิดสิทธิวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่อยู่อย่างเรียบง่ายและพอเพียงเหล่านี้

      นักวิชาการระบุว่า กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม ตกอยู่ในภาวะวิกฤต เป็นกลุ่มเปราะบางที่คนในสังคมจะต้องช่วยกันปกป้องดูแล ปัญหาโดยภาพรวมของกลุ่มคนเหล่านี้ มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายใช้ทรัพยากรไม่เป็นธรรม 


อาทิเช่น โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การสัมปทานเหมืองแร่ การสร้างเขื่อน นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานและอื่นๆ ของรัฐไปทับที่อยู่และที่ทำกินดั้งเดิม ฯลฯ เมื่อปี 2553 มีการผลักดันให้เกิดมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

ซึ่งปัญหาหลักของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินทั้งในป่า ในทะเล และปัญหาพื้นที่ศักดิ์สิทธิเพื่อประกอบพิธีกรรมและสุสานกำลังถูกรุกราน รวมทั้ง ปัญหาการไม่มีสัญชาติหรือไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและถูกเอาเปรียบ ถูกรีดไถ่ ปัญหาขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ปัญหาการถูกรุกรานวิถีชีวิตวัฒนธรรมด้วยสังคมสมัยใหม่ ปัญหาการถูกดำเนินคดีจากการทำกินในเขตดั้งเดิม หรืออื่นๆ 

รวมถึงปัญหาการขาดความมั่นคงทางด้านจิตใจเนื่องจากการถูกกดทับมายาวนานและปัญหาอคติชาติพันธุ์ของคนในสังคมไทย ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตเลวร้ายลงกลายเป็นกลุ่มคนที่ยากจน

ที่สำคัญรากของปัญหาเหล่านี้ เริ่มก่อเค้าโครงให้เกิดปรากฎการณ์และคำถามต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ   เช่น
ชาวเลถูกนายทุนจ้างจับปลาสวยงาม 
นายทุนจ้างกะเหรี่ยงตัดงาช้าง 
ทำไมชาวม้งจับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งบังคับย้ายเขาออกจากป่า?      
เจ้าหน้าที่รัฐเผ่ายุ้งข้าวกะเหรี่ยง ระหว่างประกาศเขตป่าของรัฐกับกะเหรี่ยงใครอยู่ก่อน? 
 ชาวเลถูกจับข้อหาจับปลาในเขตอนุรักษ์แต่ศาลยกฟ้อง ฯลฯ

      ซึ่งหากพิเคราะห์ให้ชัดเจนจะเห็นว่าคนเหล่านั้น "กำลังตกเป็นเครื่องมือของทุนหรือผู้ร้าย" โดยการจ้างให้ใช้ความสามารถพิเศษและภูมิปัญญาของเขาไปกระทำผิด รวมทั้งนโยบายรัฐที่ไปรุกรานละเมิดสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ โดยที่คนเหล่านี้ไม่มีความรู้ทางกฎหมายในการปกป้องตนเอง รวมทั้งไร้สิทธิไร้เสียงที่จะตอบโต้แม้ว่า ความจริงจะถูกบิดเบือนก็ตามที

นับเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทำต่อคนในสังคม จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง และ ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มจะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อประเทศไทยเปิดเสรีอาเซียน อันจะนำมาซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอาจจะนำมาสู่ความรุนแรงทางสังคม เฉกเช่นเดียวกับการกดทับกลุ่มชาติพันธ์มาลายู ในจังหวัดชายแดนใต้ หากรัฐบาลไทยและคนในสังคมไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนนี้อย่างถูกที่ถูกทางและเหมาะสม

ดังนั้น เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง จึงจัด สมัชชาคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อผลักดันนโยบาย “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง” ก่อนเปิดเสรีอาเซียน ขึ้น ในวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2555 ณ. ข้างทำเนียบกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อสังคม สาธารณะและระดับนโยบาย

โดยมีข้อเสนอคือ

1.เสนอให้มีมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ”  โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน คือ ผู้แทนชนเผ่า องค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมดำเนินงาน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

2. เสนอให้มีมติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งกอง “แก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง“ โดยสนับสนุนงบประมาณอย่างน้อยปีละ 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน การศึกษาวิจัย การฟื้นฟูวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิต / อาชีพ และการแก้ปัญหาอื่น ๆ ฯลฯ โดยให้กองทุนอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามข้อ 1.

3. เสนอให้คณะกรรมการตามข้อ 1. เร่งดำเนินการ ดังนี้

3.1) ดำเนินการตาม มติคณะรัฐมนตรี 2553 เรื่องการแก้ปัญหาชาวเลและกะเหรี่ยง โดยเร่งประกาศพื้นที่นำร่อง “ เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ” ชุมชนชาวเล 8 พื้นที่ และ กะเหรี่ยง 4 พื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกิน เป็นลำดับแรก

3.2) สนับสนุนการศึกษาวิจัย สำรวจรวบรวมข้อมูลของพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาระยะยาว
3.3) สนับสนุนการศึกษาพัฒนาให้เกิดการจัดตั้ง “องค์กรหรือสถาบัน” ที่ดูแลคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามแนวทาง “ เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ ” ภายใน 6 เดือน

3.4) หาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน ในกรณีความขัดแย้งในปัญหาที่ดินอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน เรื่องสัญชาติ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ อย่างเท่าเทียม

ดาวน์โหลด กำหนดการ
กำหนดการ

ที่มา http://tvthainetwork.com

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น