Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ [กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่]

ประวัติความเป็นมาและการอพยพชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่
            ชนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ลาหู่  หรือ ละหู่ (Lahu) ซึ่งแปลว่า คนมีเชื้อสายมาจากกลุ่มโลโล ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองอาศัยอยู่บนที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ และได้รับการยอมรับจากจีนให้จัดการปกครองตนเองได้อย่างอิสระ บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของมณฑลยูนนานก่อนที่ชนชาติไทใหญ่และจีนจะเข้าไปครอบครอง ต่อมาได้มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอยู่ตลอดเวลาในแถบประเทศจีน พม่า ลาว และไทย
      คนจีนในมณฑลยูนนานเรียกชนกลุ่มนี้ว่า หลอเหยส่วนที่มาของคำว่า มูเซอนั้น Frank M. Lebar สันนิษฐานว่าเป็นคำที่มาจากภาษาไทใหญ่ในรัฐฉานมีความหมายว่า นายพราน” (ถาวร 2543 : 41, โสฬส 2539 : 7) ขณะที่ จิตร ภูมิศักดิ์ (2529) อธิบายไว้ว่า อันที่จริงคำ มูเซอ ที่แปลว่าพรานป่านั้น มิใช่ภาษาไทใหญ่ หากเป็นคำที่ไทใหญ่ขอยืมมาจากภาษาพม่า ซึ่งเรียกนายพรานว่า มกโซ 
        
      โสฬส (2539) กล่าวว่าได้สัมภาษณ์ผู้รู้ชาวพม่า และได้รับคำอธิบายว่า คำว่า พราน ในภาษาพม่า ซึ่งเขียนว่า มุฉุยะแต่อ่านออกเสียงได้ว่า มกโซแต่ในวิถีชีวิตจริง เมื่อคนพม่าพูดถึงนายพราน จะออกเสียงว่า มูเซเมื่อคนไทใหญ่เรียกชื่อชนกลุ่มนี้ตามอย่างคนพม่า จึงอาจจะออกเสียงเป็น มูเซอ" Authony R.walker นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ได้กล่าวถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลาหู่ไว้ว่า (โปรดดู สมาคม IMPECT (2545), โสฬส (2539))

     ก่อนคริสตศตวรรษที่ 19 ลาหู่เคยเร่ร่อนมาก่อน ต่อมาจีนได้ให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ลาหู่ โดยให้หัวหน้ากลุ่มเป็นผู้รับสาส์นตราตั้งจากพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ลาหู่ยังคงยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรพรรดิ แต่ภายหลังจากที่จีนได้เปลี่ยนแปลงการปก ครอง จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่ทางทหารเข้าไปปกครองท้องถิ่น รวมทั้งดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนในแถบมณฑลยูนนาน อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลาหู่ส่วนใหญ่ (ศาสตราจารย์ต้วน ลี เชิง นักมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ให้ข้อมูลเพิ่มไว้ว่า ในปี 2525 มีลาหู่ 320,000 คน อยู่ในเขตอำเภอล้านช้างถึง 154,000 คน ฉะนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนใหญ่ของลาหู่อยู่ที่อำเภอล้านช้าง ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน) ทำให้ชาวลาหู่ส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ พากันกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจการปกครองของจีน

      ในที่สุดผู้นำทางศาสนาคนหนึ่งได้รวบรวมศาสนิกตั้งตัวขึ้นเป็นขบถ จับอาวุธขึ้นต่อสู้ และมีการบันทึกไว้ว่า (โสฬส, 2539) ชาวลาหู่พร้อมด้วยอาวุธซึ่งประกอบด้วยหน้าไม้และลูกธนูอาบยาพิษ ได้ทำการต่อต้านทหารจีนอย่างเข้มแข็ง แต่ในที่สุดก็ไม่สำเร็จ ลาหู่ส่วนใหญ่จำยอมอยู่ภายใต้อาณัติของจีน ยอมรับอำนาจการปกครองของจีนและยอมผสมผสานกับวัฒนธรรมจีนที่แผ่ขยายเข้ามาพร้อมกับอำนาจทางการเมืองจนกลายเป็นชาวจีน 
      แต่ก็ยังมีลาหู่อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธการครอบงำทางวัฒนธรรม และไม่ยอมถูกกดขี่ก็พากันอพยพลงมาทางใต้ของประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ลงไปถึงแคว้นเชียงตุงของพม่า    ในปี 2525 มีตัวเลขแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนชาวลาหู่อยู่ถึง 474,000 คน (สมาคม IMPECT, 2545)


       ต่อมาเมื่อลาหู่ทนต่อการปกครองของทหารจีนไม่ไหว กลุ่มหนึ่งได้หนีอพยพลงมาอยู่ในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า ขณะที่มีการอพยพนั้นเขตเชียงตุงอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษ Walker ได้อ้างรายงานของร้อยเอก Mc Leod นายทหารฝ่ายข่าวกรองของอังกฤษ ซึ่งได้บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1837 เกี่ยวกับลาหู่ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มที่อพยพมาจากจีนว่า (โสฬส, 2539) ลาหู่รับเอาวัฒนธรรมการปกครองจากชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน โดยเรียกผู้นำที่มีฐานะทางสังคมสูงว่า พญา”  (Pha-ya)
เมื่อชาวลาหู่เข้ามาอยู่ในเขตเชียงตุง ประเทศพม่า ก็พบกับปัญหาสำคัญอีกหลายประการ โดยเฉพาะกับความพยายามของกลุ่มหมอสอนศาสนาชาวอังกฤษ ซึ่งพยายามโน้มน้าวให้ลาหู่ละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมแล้วหันไปนับถือศาสนาคริสต์ 

             ชาวลาหู่ซึ่งมีความศรัทธาต่อศาสนาดั้งเดิม ไม่ปรารถนาเช่นนั้น จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้น โดยมีผู้นำศาสนาดั้งเดิมคนหนึ่งชื่อ มะแฮได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้วิเศษ เพื่อรวบรวมบริวารต่อต้านการครอบงำจิตสำนึกของฝ่ายคริสตจักรอังกฤษ ซึ่งทำให้ชาวลาหู่จากที่ต่างๆ เดินทางไปแสวงบุญและมอบตัวเป็นบริวารกับปู่จองมะแฮเป็นจำนวนมาก จึงคิดวางแผนยึดเอาเมืองสาต (Hsat) เพื่อตั้งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรลาหู่ขึ้น ในที่สุดฝ่ายอังกฤษซึ่งปกครองพม่าอยู่ก็ต้องส่งกำลังเข้าปราบปราม แต่ฝ่ายของปู่จองมะแฮก็เตรียมรับมืออย่างแข็งขันด้วยการขุดคู ปักไม้ไผ่เสี้ยมปลายแหลมไว้รอบ ๆ ที่มั่น และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บริวารด้วยการแจกเทียนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปู่จองมะแฮอ้างว่า เป็นตัวแทนแห่งอำนาจของพระเจ้าที่จะช่วยปกป้องบริวารมิให้ได้รับอันตรายจากอาวุธของฝ่ายตรงกันข้าม 
        แต่เมื่อการสู้รบผ่านไป ศรัทธาและความเชื่อถือของบริวารทั้งหลายก็ค่อยๆเสื่อมถอย เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เคยคุยกันไว้ ลาหู่บริวารพากันล้มตายลงทุกวัน เมื่อฝ่ายอังกฤษบุกเข้าถึงที่มั่นสุดท้าย ลาหู่ที่เหลือรวมทั้งปู่จองมะแฮก็เผ่นหนีเอาชีวิตรอด จนกระทั่งได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว

       การอพยพครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษคืนเอกราชให้พม่า เพื่อเปิดโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง ชาวลาหู่ในพม่าก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการดำรงชีวิต ด้วยแรงกดดันจากนโยบายอันแข็งกร้าวของรัฐบาลที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ แรงกดดันจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว ก่อให้เกิดการรวมตัวของลาหู่อีกครั้งหนึ่ง 

      โดยมี ปู่จองจะฟูผู้นำทางศาสนาคนสำคัญคนหนึ่งของชาวลาหู่ ได้ตั้งตนขึ้นเป็นผู้วิเศษใช้ชื่อว่า เหมาะนะ-โตโบหรือ ฤษีลิงดำ” (โดยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อว่า ปู่จองหลวง”) ขึ้นที่ดอยลาง เขตเมืองเชียงตุง มีการกระจายข่าวลือไปยังลาหู่ทั้งที่อยู่ในเขตพม่าและเขตไทยว่า ได้มีพระเจ้าจากสวรรค์ลงมาประทานข้าวทิพย์ อาหารทิพย์แก่ชาวลาหู่ทุกคน ขอให้คนที่อยากได้ข้าวทิพย์ อาหารทิพย์ เดินทางไป เฝ้าพระเจ้าที่ดอยลาง การเฝ้าพระเจ้าในที่นี้คือ การนำเงินหรือสิ่งของมีค่าอื่นไปเซ่นไหว้เหมาะนะโตโบ ซึ่งถือเป็นร่างทรง หรือเป็นตัวแทนของพระเจ้า เพื่อขอพรหรือเพื่อรักษาโรคไข้เจ็บต่างๆ

      การต่อต้านครั้งนี้ชาวลาหู่สามารถรวบรวมผู้คนและทรัพย์สินเพื่อสะสมอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวลาหู่มีศรัทธาต่อตัวผู้นำศาสนาของตนเป็นอย่างมาก แต่การต่อต้านครั้งนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เหมาะนะ-โตโบ จึงต้องพาบริวารหนีเข้าเขตประเทศไทย และได้ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณบ้านต้นน้ำแม่มาว ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และแถบบริเวณเขตติดต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย จนกระทั่งเสียชีวิตที่อำเภอฝางเมื่อปี พ.ศ. 2527 การอพยพครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญ หลังจากนั้นก็มีการอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยแบบประปราย สาเหตุก็เนื่องมาจากนโยบายการปราบปรามของรัฐบาลพม่า การชักนำของหมอสอนศาสนา และการชักชวนของญาติพี่น้อง

ตำนานประวัติชนชาวลาหู่

            ผู้เฒ่าผู้แก่ลาหู่ในหมู่บ้านขุนห้วยไส้เล่าว่า (โปรดดู ลาเคละ จะทอ, 2548) ก่อนที่จะมีลาหู่เกิดขึ้นนั้นมีมนุษย์เผ่าอื่นเกิดขึ้นก่อนแล้ว โดยได้เล่ากันว่าเผ่าลาหู่เป็นน้องในบรรดาเผ่ามนุษย์ที่มีโลกนี้ จุดที่ลาหู่เกิดขึ้นนั้นเล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งอาศัยอยู่กับคนอื่นในหมู่บ้านนั้น วันหนึ่งได้มีสัตว์ประหลาดเข้ามาในหมู่บ้าน สัตว์ตัวนั้นได้อาละวาดก่อกวนชาวบ้าน ชายที่ไม่มีใครทราบชื่อคนดังกล่าวได้ฆ่าสัตว์ประหลาดตัวนั้น ผู้คนก็พากันแห่มาดูเพราะไม่เคยเห็นสัตว์ชนิดนั้น และโดยบังเอิญผู้คนเหล่านั้นได้พากันร้องคำว่า ลา พร้อมกันขึ้น ลา แปลตามภาษาลาหู่ว่า เสือ และต่อมาก็มีคำคำหนึ่งดังขึ้นอีก คือคำว่า หู่ เป็นคำอุทาน แปลว่า ช่างมันเถอะ ชายคนนั้นจึงได้ชื่อมาโดยบังเอิญ ตามที่ผู้คนเหล่านั้นได้กล่าวคือ คำว่า ลาหู่ซึ่งคำ 2 คำนี้มารวมกันแล้วแปลว่า เสือผู้เฝ้าป่า โดดเดี่ยว ตามภาษาลาหู่
            ชาวลาหู่ได้เล่าเกี่ยวกับแผ่นดินอันไร้ขอบเขต (มูแม-หมี่แม) หมายถึง พื้นที่อันกว้างไกลไร้ขอบเขต พื้นที่นั้นเสือจะวิ่งหนีจากตัวเราหนึ่งวัน คืนวันรุ่งขึ้นยังสามารถมองเห็นเสือตัวนั้นอยู่ เหตุนี้ชาวลาหู่จึงมีวิถีชีวิตสังคมที่มีความเป็นอิสระเสรีตามลักษณะพื้นถิ่นที่กำเนิด ลาหู่จึงเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความเป็นไท และได้สำนึกความเป็นเผ่าพันธุ์ของตัวเองในความเป็นคนอยู่เสมอ จึงมีจิตสำนึกว่า แผ่นดินไหนที่ข้าอยู่ แผ่นดินนั้นก็เป็นของข้าเช่นกัน ข้าจะปกป้องแผ่นดินที่ข้าอยู่ ถือว่าโลกทั้งโลกนี้ พระเจ้าสร้างให้กับคนทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในผืนแผ่นดิน สังคมลาหู่จึงเป็นสังคมที่ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น เพราะถือว่าการเบียดเบียนผู้อื่นจะทำให้เกิดทุกข์แก่ตัวเอง
            เรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเผ่าและอารยธรรมของลาหู่ว่า พระเจ้าได้เรียกมนุษย์ 120 เผ่าพันธุ์มาชุมนุมกัน เพื่อประทานสิ่งของวิเศษ 2 อย่างคือ ลา-พือ-ต่อ (คันไถ) และ เจ๊ะเจ-ตู (ขวาน) ให้แก่มนุษย์ทั้ง 120 เผ่า โดยให้แต่ละเผ่าเลือกตามความพอใจของตนได้ 3 ครั้ง มนุษย์เผ่าอื่นๆมักจะเลือกเอาคันไถ แต่สำหรับลาหู่ได้เลือกเอาขวานทั้ง 3 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ที่ราบที่นามีไม่มากเหมือนกับป่า แต่ป่านั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมากนัก ดังนั้นจึงขอเลือกเอาขวาน พระเจ้าจึงได้ประทานขวานให้แก่ชาวลาหู่ และได้ตรัสว่า เจ้าจงใช้สิ่งของที่ข้าให้ไว้และรักษาไว้ให้ดี แล้วจะเกิดประโยชน์แก่ตัวเจ้า และจะเป็นภัยแก่ตัวเจ้า หากเจ้าไม่รู้จักใช้ ลาหู่จึงรับเอาขวานแล้วเข้าป่าไปในที่สุด
            สำหรับวิชาความรู้ที่พระเจ้าได้ประทานให้กับชาวลาหู่นั้น พระเจ้าได้ให้ไว้เป็นตัวอักษร  แต่ลาหู่กลับกินเข้าไป จึงให้คายออกมา แต่เมื่อคายออกมาก็กลายเป็นก้อนเหนียวๆ กลมๆ ปัจจุบันชาวลาหู่เรียกสิ่งนี้ว่า ออ-ฝุกหรือที่คนไทยพื้นราบทั่วไปเรียกว่า ข้าวปุ๊พระเจ้าจึงบอกว่านี่แหละเป็นวิชาความรู้ของเจ้า และได้กล่าวไว้ว่า วันหนึ่งจะเกิดมหัศจรรย์ หากรักษาไว้ดีไม่ให้สูญหาย เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ หรือ เขอะ-จาของทุกปี ชาวลาหู่ทุกครัวเรือนจึงต้องตำข้าวปุ๊ บูชาเทพเจ้าแห่งปีใหม่ เพื่อบอกกล่าวว่า ได้รักษาวิชาความรู้ที่ท่านให้ไว้มาจนครบอีกวาระหนึ่ง พระเจ้ายังได้ตรัสอีกว่าในบรรดาชนเผ่าทั้งหลาย ชาวลาหู่นั้นเป็นน้องของชนเผ่าอื่นๆ หากรักษาวิชาที่ให้ไว้ ถึงวันหนึ่งไม่มีใคร หรือ สิ่งใดที่สามารถหยุดยั้งสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้ ต้องรอคอยวันเวลา และไม่ลืมในความเป็นเผ่าของตนเอง ชาวลาหู่จึงชอบอยู่แต่ในป่าเขาตลอดเรื่อยมา รักในความอิสรเสรีเสรีภาพ มีความสันโดษ ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับใคร

ภาษา
        David Bradley (1975) นักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้ศึกษาภาษาถิ่นต่างๆ ในตระกูลภาษาทิเบต-พม่า อย่างลึกซึ้ง ได้จัดกลุ่มภาษาลาหู่อยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan) สาขาทิเบต-พม่า กลุ่มภาษาโลโลดั้งเดิม (Proto-Lolo) และแตกสาขาย่อยลงมาในกลุ่มพม่า-โลโล สาขาโลโลกลาง (Central Lolo) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาลีซู และภาษาอาข่า
            ภาษาลาหู่เป็นภาษาที่ไม่มีตัวอักษรหรือระบบการเขียนเป็นของตนเองมาก่อน แต่ต่อมาภายหลังมีหมอสอนศาสนาจากโลกตะวันตกได้ใช้อักษรโรมันสร้างระบบการเขียนภาษาลาหู่ขึ้น ภาษาลาหู่เป็นภาษาที่มีระบบการเรียงคำแตกต่างจากภาษาไทย แต่เหมือนภาษาพม่า เพราะมาจากภาษาตระกูลเดียวกัน กล่าวคือ ประธาน - กรรม - กริยา (ในขณะที่ภาษาไทยเรียงคำเป็นประธาน กริยา กรรม) เช่น ประโยคที่คนไทยพูดว่า ฉันกินข้าว คนลาหู่จะพูดว่า หง่าอ่อจ้าเว (หง่า = ฉัน, อ่อ = ข้าว, จ้า = กิน, เว = คำลงท้าย)
            เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ภาษาลาหู่ไม่มีเสียงพยัญชนะท้าย ทำให้คนลาหู่ที่เริ่มหัดพูดภาษาไทยมักประสบความยุ่งยากในการออกเสียงตัวสะกดในภาษาไทย จึงมักจะทำเสียงตัวสะกดของภาษาไทยหายไป เช่น หมด กบ ตก จะออกเสียงเป็น โหมะ โกะ โตะ            
           อย่างไรก็ตาม การรู้จักธรรมชาติการออกเสียงภาษาไทยของชาวลาหู่ ก็นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในการสืบสาวร่องรอยอิทธิพลของวัฒนธรรมชนชาติไท ไต ที่มีต่อวัฒนธรรมลาหู่ ตัวอย่างเช่น การศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของลาหู่ ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่าลาหู่ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนใหญ่ เช่น คำว่า โตโบ ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาสูงสุดในชุมชนน่าจะมาจากคำว่า ต๋นบุญในภาษาไทยทางภาคเหนือนั่นเอง รวมทั้งคำว่า ปู่จองซึ่งอาจแปลว่า มัคทายก ในภาษาไทย (จอง ในภาษาไทยใหญ่ แปลว่า วัด”) (โสฬส, 2539 : 12)

ลาหู่ในประเทศไทย

         ชนเผ่าลาหู่ เป็นกลุ่มชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดเผ่าหนึ่ง ปัจจุบันมีการกระจายตัวอาศัยอยู่ในหลายประเทศ เช่น จีน พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และมีการอพยพไปยังประเทศโลกที่สามเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ  ส่วนชาวลาหู่ในประเทศไทย แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม เช่น ลาหู่ญี, ลาหู่นะ, ลาหู่แซแล, ลาหู่ชี  ฯลฯ  กระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ลำปาง น่าน และเพชรบูรณ์ 

        จากการรวบรวมข้อมูลประชากรโดยกลุ่มประสานการจัดสวัสดิการแก่ชุมชนบนพื้นที่สูง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปี พ.ศ. 2545 แสดงว่าลาหู่มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 102,876 คน 385 กลุ่มบ้าน 18,057 หลังคาเรือน 20,347 ครอบครัว

ในประเทศไทย พบว่ามีชาวลาหู่กลุ่มสำคัญๆ จำนวน 7 กลุ่มย่อย คือ
1. ลาหู่นะ (Lahu Na) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่
อำเภอฝาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และในเขตจังหวัดเชียงราย
2. ลาหู่ญี (Lahu Nyi) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด อาศัยอยู่ใน
เขตพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมือง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
3. ลาหู่แซแล้ (Lahu Shehleh) หรือบางทีเรียก ลาหู่นะเหมี่ยว อาศัยอยู่
ในเขตจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน และตาก
4. ลาหู่เหลือง (Lahu Shi) เป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ อาศัยอยู่
ในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่
5. ลาหู่ลาบา (Lahu Laba or Laban) เป็นกลุ่มที่เพิ่งอพยพเข้ามา
อาศัยอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
6. ลาหู่ฟู (Lahu Phu) มีอยู่จำนวนเล็กน้อยในจังหวัด
เชียงราย
7.  ลาหู่ฌีบาเกียว (Lahu Shibakio) อาศัยอยู่ปะปน กับกลุ่มอื่น พบมาในจังหวัดเชียงราย
            นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ แตกย่อยมาจากกลุ่มย่อยดังกล่าวอีก เท่าที่พบในประเทศไทย มีจำนวน 13 กลุ่มย่อย
           ลาหู่กลุ่มย่อยต่างๆ พูดภาษาแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย สามารถสื่อเข้าใจกันได้ โดยขนบธรรมเนียมประเพณีก็คล้ายคลึงกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันที่เห็นเด่นชัดก็คือ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง


                        
โครงสร้างทางสังคม
           โครงสร้างทางสังคมลาหู่ในหมู่บ้านหนึ่งๆจะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ซึ่งชาวลาหู่เรียกว่า แซะ คือ แซะ หละหมายถึงก้นเส้าที่มี 3 ขา 3 มือ จึงจะสามารถตั้งขึ้นอย่างมั่นคงได้ คือ
อาดอ, คะแซ หรือผู้ใหญ่บ้าน (ชาย)
โตโบ หรือ นักบวช พระ (ชาย)
จาหลี หรือ ช่างตีเหล็ก ผลิตและซ่อมแซมอุปกรณ์การเกษตร (ชาย)
        ชาวลาหู่เชื่อว่าในหมู่บ้านหนึ่งๆ จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ หากหมู่บ้านใดไม่มีก็จะถือว่าไม่สมบูรณ์ หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ชาวลาหู่ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบของการจัดตั้งหมู่บ้านและจะล่มสลายในที่สุด ในปีหนึ่งๆ ทุกหลังคาเรือนจะต้องไปช่วยทำงานให้แก่บุคคลทั้งสามคนนี้ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ทำหน้าที่ให้เกิดความสงบร่มเย็น สงบสุข มีกินมีใช้ในหมู่บ้าน (โปรดดู สมาคม  IMPECT (2545), ลาเคละ (2548))

ผู้นำหมู่บ้านและบทบาทหน้าที่
            ผู้นำหมู่บ้านมีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแล หมู่บ้านให้เกิดความสงบสุข และป้องกันให้เกิดความปลอดภัย ชักจูงให้ลูกบ้านร่วมปฎิบัติงานของส่วนรวม อบรมสั่งสอนให้ลูกบ้านปฏิบัติตามหลักความเชื่อศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา เป็นคนตัดสินคดีความต่างๆระหว่างชาวบ้าน สั่งสอนตักเตือน และปรับไหมตามกฎจารีตประเพณี ที่ชาวลาหู่เรียกว่า อ่อหิ-อ่อก่อที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานจนเป็นประเพณีถึงทุกวันนี้ ในหมู่บ้านลาหู่นอกจากมีผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยังมีบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือดังนี้คือ
            1. คะแซ หรือ อาดอ (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นผู้นำหมู่บ้านในด้านการปกครอง สืบทอดทางสายโลหิตหรือเครือญาติเดียวกัน ถ้าคะแซไม่มีลูกชาย หรือลูกชายไม่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ และไม่สนใจการปกครอง จะต้องเลือกหาคะแซขึ้นมาใหม่ โดยเอาผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการปกครอง จารีต ประเพณี วัฒนธรรม มีความประพฤติดี เป็นผู้ที่ยอมรับนับถือของชาวบ้าน และมีความสนใจขึ้นมาเป็นคะแซ หรือ อาดอแทน ถ้าวงศาคณาญาติที่ไม่เคยเป็นคะแซก็ห้ามเป็นคะแซ เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นแล้วอาจจะทำให้ครอบครัวมีฐานะแย่ลง เจ็บป่วยไม่สบาย หรือเสียชีวิตได้ คะแซไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเสมอ หากผู้หญิงมีความรู้ความสามารถมากกว่าก็สามารถเป็นได้เช่นกัน คะแซจะมีผู้ช่วย 3 คน คือ ปู่หมื่น ปู่แส ปู่ลา
            2. โตโบ เป็นตำแหน่งผู้นำศาสนาสูงสุดของลาหู่ ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ติดต่อสื่อสารระหว่างคนกับพระเจ้า รักษาโรคภัยไข้เจ็บ บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และอบรมสั่งสอนคนในหมู่บ้านให้เป็นคนดี รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี ตำแหน่งโตโบนั้นจะเป็นของผู้ชายเท่านั้น และมีการสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิต  หรือวงศาคณาญาติ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎจารีตประเพณีเป็นอย่างดี สามารถสวดมนต์ได้ ถ้าในครอบครัวตามสายโลหิตหรือตามสายเครือญาตินั้นไม่มีคนมีความรู้และความสามารถในด้านนี้ ก็จะเป็นโตโบไม่ได้ ต้องทำการเลือกโตโบคนใหม่ โดยเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมของลาหู่ และเป็นผู้ที่มีความประพฤติอยู่ในศีลธรรม ไม่กระทำความผิด เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน
            โตโบ จะมีผู้ช่วยผู้อาวุโส หรือมีความรู้ด้านกฎจารีตประเพณี หรือผู้ที่ต้องทำงานร่วมกันคือ ส่าหล่า อาจา ฟูกวาง ตาลา และ คะซ้อมา
     - อาจา เป็นตำแหน่งของผู้ชายลาหู่ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงาน แลกเปลี่ยน เผยแพร่ประเพณี วัฒนธรรม
     - ฟูกวาง เป็นผู้ดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยและซ่อมแซมหอแหย่ สำหรับการประกอบพิธีกรรมสำคัญของลาหู่
     - ตาลา เป็นคนเข้าทรงผู้ชาย เป็นผู้ทำนายบอกเหตุ การเจ็บไข้ได้ป่วยและการดูแลรักษาร่างกาย ตลอดจนอบรมสั่งสอนให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี
     - คะซ้อมา เป็นคนเข้าทรงผู้หญิง ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งเดียวของผู้หญิงในโครงสร้างความเชื่อทางศาสนา มีหน้าที่ในการรักษาคนไข้เช่นเดียวกับโตโบ  และอบรมสั่งสอนให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวลาหู่เชื่อว่าคะซ้อมาสามารถรับรู้เหตุการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน และช่วยหาทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่ดีต่างๆได้
            3. จาหลี ทำหน้าที่ผลิตเครื่องมือการเกษตร

            บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้ที่คอยให้ความเป็นธรรมเมื่อเกิดเรื่องขัดแย้งต่างๆ แต่ละฝ่ายจะทำงานไม่ก้าวก่ายกันและกัน เช่น ผู้นำศาสนาก็จะไม่พูดเรื่องคดีความต่างๆ แต่จะพูดเรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องบุญ และความถูกผิดจามจารีตประเพณี
            โครงสร้างทางสังคมของลาหู่เหล่านี้ ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันเรื่องบางอย่างก็ไม่สามารถปฏิบัติเช่นในอดีต เช่น เรื่องการตัดสินใจในคดีความต่างๆ มักจะไม่สิ้นสุดในชุมชน แต่จะต้องไปถึงกำนัน หรือตำรวจแทน


ที่มา http://www.cesd-thai.info ภาพจาก hi-lahuya.com

7 Comments:

Unknown กล่าวว่า...

LAHU Website
www.lahuyahui.com

Unknown กล่าวว่า...

ลาหู่ สวย หน้าตาขาว สะอาด ดี จะอยุ่ในจังหวัดเชียงราย เป้นส่วนมาก

Unknown กล่าวว่า...

ไม่ว่าจะเปนเผ่าอะไรผมเชื่อว่าเปนคนไทยเหมือนกัน

Unknown กล่าวว่า...

ผมรักลาหู่

Unknown กล่าวว่า...

ผมรักลาหู่

Unknown กล่าวว่า...

ลาหูก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจริตใจนะค่ะ
ถือแม้อาจชนกลุ่กน้อยก็ตาม

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รักลาหู่ เหมือนลาหู่รักบ้านเกิด

แสดงความคิดเห็น