Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

ภูมิปัญญาชนเผ่า 'ปกาเกอะญอ' สานต่อที่ 'มอวาคี'


'หมู่บ้านมอวาคี' ความหมายตามภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า 'บ้านห้วยหนองน้ำขาว' หรือชื่อราชการ คือ บ้านหนองมณฑา เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ตั้งอยู่ที่หมู่ 16 ต.แม่วิน อ. แม่วาง จ.เชียงใหม่ ในหมู่บ้านมีโรงเรียนชุมชนมอวาคี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535 โดยชาวปกาเกอะญอมอวาคี และสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ( ศ.ว.ท.หรือ IMPECT) ได้ประสานความร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ชื่อว่า 'ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านมอวาคี' ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 'ศูนย์การเรียนชุมชนแม่ฟ้าหลวงบ้านหนองมณฑา(มอวาคี)' ปัจจุบัน มีครู 5 คน และปราชญ์ชาวบ้าน 4 คน มีนักเรียนปกาเกอะญอประมาณ 70 คน โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมอวาคีให้มีความรู้ทั้งทางวิชาการ วิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรมที่ดีงาม เห็นคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมปกาเกอะญอและสามารถใช้ภูมิรู้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

รู้เราและรู้เขา

ครูนารีรัตน์ จ๊ะโค ครูใหญ่โรงเรียนชุมชนมอวาคีได้เล่าจุดประสงค์ของการเรียนการสอนบูรณาการประสานหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่นว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชน รู้จักและรักษ์ป่า สอนให้สำนึกในวิถีของปกาเกอะญอ มีการสอนภาษาปกาเกอะญอทั้งฟัง พูด อ่านและเขียน ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาของกลุ่มชน

เดิมมีสอนแต่ภาษาไทย จึงมีคำถามว่าเราจะสอนภาษาปกาเกอะญอควบคู่ไปด้วยได้ไหม ที่สุดก็ตกลงว่าจะสอน 2 ภาษา คือเรียนเขียน อ่าน พูดภาษาปกาเกอะญอเป็นเรื่องหลัก แล้วสอนเชื่อมโยงกับภาษาไทย-อังกฤษ โดยบูรณาการระหว่างหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ.กับหลักสูตรท้องถิ่น และให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาสอนคติ ภูมิปัญญา องค์ความรู้ในการจัดการป่า รักษาป่า รักษาน้ำ การปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้เรียนรู้คุณค่าของภูมิปัญญาปกาเกอะญอ ก่อนที่ภูมิปัญญาจะสูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นปู่รุ่นย่า"

ขุนเขา ไร่ข้าว และหมู่บ้าน คือ ห้องเรียนรู้โลก

กว่า 19 ปีแล้วที่หมู่บ้าน ไร่ข้าว ลำธาร และผืนป่าแห่งมอวาคี ทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านและห้องเรียนให้แก่นักเรียนปกาเกอะญอรุ่นเยาว์ เพื่อเรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมของกลุ่มชน 'ห้องเรียน' ที่ไม่ได้มุ่งแข่งขันทำเกรดสูงๆ ไว้เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่เป็นห้องเรียนที่เรียนชื่อต้นไม้ รู้จักป่า รู้จักแมลง ลำธาร พันธุ์พืช เรียนรู้เกี่ยวกับท้องฟ้า ดูเมฆ ดูแสงแดด ดูลม เรียนรู้ความคิด วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และปลูกสำนึกความเป็นปกาเกอะญอควบคู่กับการเรียนรู้แกนกลางตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

นอกจากการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางในห้องเรียนแล้ว ยังส่งเสริมการเรียนรู้ในป่า สมุนไพร การจัดการป่า การดูแลป่า พิธีกรรมในไร่ข้าว การเซ่นไหว้ข้อห้าม พิธีกรรม รวมทั้งพาเด็กไปเรียนรู้ ร่วมพัฒนาชุมชน ตอนแรกก็กังวลว่านักเรียนที่ไปเรียนต่อที่อื่นจะอ่อนเรื่องหลักสูตรแกนกลาง ไปเรียนต่อแล้วจะมีปัญหาไหม แต่ผลที่ออกมาคือ นักเรียนสามารถนำความรู้แกนกลางและความรู้เชิงวัฒนธรรมที่เรียนจากโรงเรียนชุมชนมอวาคีไปเรียนต่อในโรงเรียนประจำอำเภอได้เป็นอย่างดีครูนารีรัตน์ เล่าเสริม

คุณครูยังเห็นว่า ความรู้หลักสูตรแกนกลางมีความจำเป็นเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนต่อได้ในระดับสูง ส่วนหลักสูตรท้องถิ่นที่นำความรู้ ภูมิปัญญา และผู้รู้ท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดวัฒนธรรมนั้น เป็นมากกว่าความรู้ แต่เป็นชีวิต เป็นวิถีที่ใช้กันอยู่ทุกวันในมอวาคี เป็นคติเป็นวิถีชีวิตที่หล่อเลี้ยงชาวปกาเกอะญอมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

"การให้ผู้เฒ่าในหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการอบรมภาษา จัดกิจกรรมให้นักเรียนกลับไปถามปู่ย่าตายายถึงบทธา นิทาน ตำนาน แล้วกลับมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งนอกจากจะเรียนรู้นิทาน และความเป็นมา ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และยิ่งเสริมให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมาก

ขาเดียวเดินไม่ได้ สองขาเดินถึงไร่ถึงนา

พ่อหลวงจอนิ โอโด่เชา หนึ่งในที่ปรึกษาโรงเรียนได้เสนอทัศนะต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนชุมชนมอวาคีว่า ข่อเต่อปาแลต่าเต่อตือ ข่อคีปาตือชรี่ตือคื๊อซึ่งหมายถึง มีขาเดียวไม่สามารถเดินไปไหนได้ ต้องมีสองขา เดินซ้ายและเดินขวา เดินถึงไร่ถึงนา" หมายถึงคนปกาเกอะญอจะเรียนรู้เฉพาะหลักสูตรแกนกลางอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องรอบรู้วัฒนธรรมของของตนเอง ควบคู่กับวัฒนธรรมอื่นด้วย

ความรู้สามัญในระบบโรงเรียนของก็มีความจำเป็นเพื่อให้ไปเรียนต่อในระดับสูงได้ แต่ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมปกาเกอะญอ รับการปลูกฝังจิตสำนึกรักบ้านเกิด รักบ้านเกิดไปพร้อมๆ กันด้วย

'กิ๊' ศิษย์เก่าโรงเรียนชุมชนมอวาคีได้เล่าประสบการณ์ที่ตนได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมอวาคีว่า การเรียนรู้วัฒนธรรมความเชื่อ ภูมิปัญญาของกลุ่มชนทำให้มีความรัก ศรัทธาและผูกพันในความเป็นปกาเกอะญอมากยิ่งขึ้น

ผมภูมิใจที่รู้ว่ากลุ่มชนเรามีภาษา ตำนาน มีภูมิปัญญา มีวิถีที่ผูกพันกับธรรมชาติ ผมมีความสุขกับความพอเพียงตามวิถีของกลุ่มชนเรา โดยไม่ได้เบียดเบียนทรัพยากร และไม่เบียดเบียดตนเอง เมื่อเรียนจบก็มีความผูกพันกับบ้าน ไม่อยากออกไปทำงานที่อื่น เพราะรู้สึกว่าบ้านเราสุขสงบ ผมจึงเลือกมาสอนดนตรีเดหน่าให้น้องๆสนุกสนานพร้อมกับสืบสานภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้านไปพร้อมๆ กัน

'โรงเรียนชุมชนมอวาคี' ถือเป็นโครงการนำร่องให้พื้นที่อื่นๆ นำแนวทางไปปรับใช้ เพื่อดำเนินการเรียนการสอนในลักษณะบูรณาการนี้ได้ โดยมีมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เป็นแสงดาวแห่งศรัทธานำทาง เพื่อให้นโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงเป็นนโยบายที่ปฏิบัติการได้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อประโยชน์เพื่อชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด

ปกา มี เลอะ เปลอมา ดีอี บรรพชนของเราปฏิบัติตามวิถีชีวิต

ปกา ปก่า เลอะ มาดี อี บรรพชนของเราปฏิบัติตามประเพณี

ปก่า เมอ เปอะ มาเพ่าะอะ อะ คี บรรพชนร้องขอลูกหลานปฏิบัติตาม

เปอะเมะ เตอะมา ต่า ดีอี หากลูกหลานไม่ปฏิบัติตาม

ลอหม่า โหม่ เดอ ป่า อะมี ชื่อบรรพชน จะสูญสลายหายไป

เสียงนักเรียนปกาเกอะญอแห่งบ้านมอวาคีท่องบท 'ธา' สอนใจก้องกังวานกลางขุนเขา ณ โรงเรียนชุมชนมอวาคี ในห้องเรียนเรือนไม้ชั้นเดียว ไม่เพียงแค่การท่องขับขานหากจะแทรกซึมในจิตใจของปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่ผ่านการบ่มเพาะจากโรงเรียนชุมชนมอวาคีแห่งนี้ด้วย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

0 Comments:

แสดงความคิดเห็น